ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
|
พระพุทธรูป, ศิลปะคันธาระ, ศิลปะคุปตะ, ศิลปะปาละ, ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
|
ข้อมูลอินเดียแดนพุทธภูมิ
|
|
|
|
|
|
|
ข้อมูลอินเดีย
|
ข้อมูลอินเดีย
|
ข้อมูลอินใต้
|
ข้อมูลศรีลังกา
|
ข้อมูลอินโดนีเซีย
|
ข้อมูลพม่า
|
ข้อมูลสิงคโปร์
|
ข้อมูลมาเลเซีย
|
ข้อมูลกัมพูชา
|
ข้อมูลลาว
|
ข้อมูลลาว
|
ข้อมูลอินเดีย
|
ข้อมูลทวีปยุโรป
|
ข้อมูลทวีปแอฟริกา (Africa)
|
ข้อมูลทวีปอเมริกา (America)
|
|
เวสาลี แคว้นวัชชี
เวสาลี แคว้นวัชชี
เมืองเวสาลี (ไวสาลี, ไพสาลี) เป็นเมืองของพระเจ้าวิสาละ (ลิจฉวี)
เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในสมัยครั้งพุทธกาลเป็นแคว้นที่ทรงอำนาจทางการเมืองการปกครอง มีกษัตริย์ที่ร่วมกันปกครอง ถึง ๗,๗๗๗ พระองค์ มีรูปแบบการปกครองคือ แบบสามัคคีธรรม อำนาจมิได้อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้ากล่าวถึงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ของโลกจะต้องนึกถึงทางตะวันตกคือ กรีกเอเทนส์ และตะวันออกคือ เวสาลี
พระพุทธเจ้าเสด็จมาจำพรรษาที่ ๕ ณ เมืองเวสาลี ถ้าอยากดูเทวดามีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร ต้องมาดูกษัตริย์ลิจฉวีแต่งกาย ครั้งหนึ่งกษัตริย์ลิจฉวีได้ประทับรถม้าพระที่นั่งมุ่งไปราชนิเวศน์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ภิกษุดูว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธออยากรู้ว่า เทวดาบนดาวดึงส์สวรรค์เป็นอย่างไร พวกเธอจงดูกษัตริย์ลิจฉวีเหล่านี้เถิด แสดงให้เห็นว่า เจ้าลิจฉวีทั้งหลายแต่งตัวหรูหรา มีพระยานพาหนะวิจิตรตระการตา ดุจเหล่าเทพยดา หรือเทวดาบนดิน
ภูมิประเทศ
เมืองไพสาลีอยู่ทางฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำคงคา ห่างจากตัวเมืองปัตนะ ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร มีแม่น้ำคงคากั้นกลางเป็นพรมแดนธรรมชาติ ระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นวัชชีทางเหนืออยู่ติดไปยังเชิงเขาของประเทศเนปาล ส่วนทางตะวันออกอยู่ใกล้ชายป่าติดไปถึงแม่น้ำโกสี
และแม่น้ำมหานันทา เป็นเมืองที่ปกครองโดยระบบสาธารณรัฐแห่งแรกเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปี มีหลักฐานพอที่จะยืนยันได้ที่นี้คือ เมืองไพสาลีหรือเวสาลี เพราะมีเสาหินศิลาจาลึกของพระเจ้าอโศกมหาราช
ประวัติความเป็นมาของเมืองเวสาลี
อัครมเหสีเจ้าเมืองพาราณสีได้ตั้งพระภรรค์ และได้ให้กำเนิดลูกออกมาเป็นก้อนเนื้อสีแดง พระนางกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติพระราชา และโทษอาจจะตกถึงพระนาง ได้นำก้อนเนื้อใส่ในถาด ปิดครอบด้วยถาดอีกใบ ประทับตราราชสำนัก นำมาลอย ณ แม่น้ำคงคา
เช้าตรู่วันหนึ่ง ฤาษีได้ลงอาบน้ำที่ท่าคงคา ได้เห็นถาดที่ลอยมา จึงนำถาดเก็บไว้ อาจารย์บางท่านมีมติว่า เพราะผิวของเด็กทั้งสองแนบชิดติดกัน และชิ้นเนื้อนั้นได้แตกออกมาเป็นสองชิ้น เป็นเพศหญิง และชาย
ทารก ทาริกา มีผิวพรรณงดงาม ผิวของเด็กไม่มีเปลือกหุ้ม จึงได้ชื่อว่า ลิจฉวี คือไม่มีผิวหนัง
ท่านเลี้ยงดูแลเด็กเป็นอย่างดี ในทุกๆ วันดาบสได้ไปบิณฑบาตสาย ต่อมาตระกูลนายโคบาล ผู้มีอาชีพเลี้ยงโค เรียนต่อดาบสให้ทราบว่า การเลี้ยงเด็กเป็นความกังวลของนักบวช ท่านจงให้เด็กแก่พวกกระผมเถิด ท่านจงทำกิจของสมณะเถิด
นายโคบาลก็เลี้ยงเด็กจนเจริญเติบโต วันหนึ่งเด็กทั้งสองได้เล่นกับลูกนายโคบาลอื่น เกิดการทะเลาะชกต่อยกัน ลูกของนายโคบาลร้องไห้ไม่สามารถต่อสู้ได้ ก็เลยไปฟ้องพ่อแม่ ว่าเด็กไม่มีพ่อไม่มีแม่ชกต่อย เป็นเหตุให้นายโคบาลงดเว้นการสงเคราะห์การเลี้ยงดูแล คำว่า งดเว้น ในภาษาบาลี เรียกว่า วช ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาดินแดนแห่งนี้จึงเรียกว่าวัชชี
เมืองวัชชี หรือแคว้นวัชชี มีพื้นที่ ๑๐๐ โยชน์ นายโคบาลขอพื้นที่จากพระราชาสร้างพระนคร อภิเษกผู้ชายอายุ ๑๖ ปี เป็นพระราชา
ส่วนผู้หญิงอภิเษกเป็นพระมเหสี
สร้างกฎกติกาคือ ไม่ยกหญิงชายในเมืองนี้ ให้แก่เมืองอื่นๆ หญิงชายเมืองอื่นๆ ก็ไม่สามารถแต่งงานกับหญิงชายเมืองนี้ได้
เมื่อพระราชาพระราชินีอยู่รวมกันแล้วมีลูกเป็นฝาแผด เป็นหญิง ๑ เป็นชาย ๑ ครั้งละ ๒ คน เกิด ๑๖ ครั้ง รวม ๓๒ คน เพื่อให้ทันต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ทำเป็นที่อยู่บ้าง ทำเป็นสวนบ้าง สร้างเป็นกำแพง ๓ ชั้นล้อมรอบ เพราะเหตุที่บ้านเมืองแห่งนี้ขยายออกอย่างรวดเร็ว กว้างใหญ่ไพศาล จึงได้ชื่อว่า ไพสาลี หรือ เวสาลี
หญิงงามประจำเมืองและสิทธิสตรีของชาววัชชี
โทษสำหรับหญิงคบชู้แรงมาก คือให้สามีฆ่าภรรยาผู้นอกใจได้โดยไม่มีความผิด นอกจากจะบวชเป็นภิกษุณีจึงพ้นโทษ และถ้าใครข่มเหงรังแกหรือข่มขืนก็มีโทษถึงประหารชีวิต
ผู้หญิงที่งามเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้ชายแย่งตีฆ่ากัน จะถูกจัดให้เป็นหญิงงามประจำเมือง ใช้เงินชื้อได้และตั้งราคาไว้สูง จะเรียก หญิงประเภทนี้ว่า นครโสเภณี เป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องมากในสมัยนั้น
เป็นอาชีพเฉพาะหญิงที่งามจริงๆ จึงเป็นเหตุให้เมืองเวสาลี เจริญก้าวหน้ามากในยุคนั้น ผู้ชายจะได้ตัวเธอต้องมีเงินมาก จึงเป็นแรงจูงใจให้เงินแพร่สะพัด แม้แต่เศรษฐีต่างรัฐก็มาใช้บริการ ขนาดพระเจ้าพิมพิสาร
เคยแอบเสด็จมาหาความสำราญส่วนพระองค์ ทั้งๆ ที่สองเมืองเป็นศัตรูกัน และต่อมาพระองค์ก็จัดให้มี นครโสเภณีที่ราชคฤห์บ้าง ภายในเมืองเวสาลี หญิงงามเมืองที่สวยและมีชื่อเสียงมาก คืออัมพปาลี ต่อมาได้บวชศึกษาพระธรรมและบรรลุพระอรหันต์
เสริมต่อ พระเจ้าพิมพิสารไปเที่ยวเป็นประจำได้มีพระโอรสแบบไม่ตั้งใจหนึ่งพระองค์ ชื่อวิมละ (วิมลโกณฑัญญะ) ตอนเด็กแม่ส่งไปยังพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ พระบิดาเห็นธำมรงค์ของเด็ก นึกขึ้นได้ จึงยอมรับเป็นลูก และรับดูแลเลี้ยงไว้ในวัง วิมละตอนหลังฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ออกบวช พระวิมละยังได้โปรดมารดาคือ นางอัมพปาลี จนได้บรรลุเป็นอรหันต์ในที่สุด
ส่วนเมืองราชคฤห์ ก็มีนางสาลวดี มีลูกชายเอาไปทิ้งกองขยะ พระเจ้าอภัยทรงพบและนำมาเลี้ยงดู ตั้งชื่อให้ว่า ชีวกโกมารภัจจ์ แปลว่า ยังไม่ตาย ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีศึกษาจนจบแพทย์จากตักกะศิลา เป็นปรมาจารย์ทางการแพทย์ และถวายการรักษาพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ
นางสาลวดี มีลูกอีกคนสุดท้ายคือ สิริมา มีความงามเป็นเลิศค่าตัวเป็นพันกหาปณะ นางได้เฝ้าพระพุทธองค์ และได้ฟังธรรมเทศนา จนได้บรรลุโสดาบัน ทูลนิมนต์พระมารับบาตร ๘ รูป ทุกวัน มีพระหนุ่มรูปหนึ่งยังไม่ได้บรรลุเกิดหลงในความงามของนาง ไม่ยอมฉันข้าวปล่อยให้ข้าวบูดคาบาตร ด้วยอิ่มในความงามของนาง ต่อมานางเกิดตายอย่างกะทันหัน
พระพุทธองค์ขอให้ระงับการเผาเก็บไว้ถึง ๗ วัน ซากศพเน่าเหม็นมีหนอนขึ้นเต็มตัว พระพุทธองค์รับสั่งให้พระเจ้าพิมพิสารประกาศ ให้ชาวเมืองมาดูมาชมนางสิริมา ใครที่ไม่มาจะถูกปรับ ๘ กหาปณะ เว้นแต่เด็กๆ อยู่เฝ้าบ้าน พระพุทธองค์พาภิกษุไปดู พระพุทธองค์ตรัสถามพระเจ้าพิมพิสารว่า
ใครต้องการตัวนางสิริมา จะลดราคา ๕๐๐, ๒๐๐, ๑๐๐, ๕๐ จนเหลือ ๑ มาสก หรือ ๑ บาท ๑ กากณึก ก็ไม่มีใครจะเอา
และรับสั่งให้มอบให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครเอา พระพุทธองค์ตรัสในท่ามกลางนั้นว่า
เมื่อก่อนมหาชนยินดีให้เป็นพันกหาปณะ เพื่อขอหลับนอนกับนางเพียงคืนเดียว ตอนนี้ให้เปล่าๆ ไม่มีใครเอา เห็นหรือยังว่าสังขารไม่เพียงถึงความสิ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา หาความยั่งยืนไม่ได้ มหาชนอันมากได้ดวงตาเห็นธรรม
บ้านเกิดศาสดามหาวีระแห่งศาสนาเชน
เดิมทีเมืองเวสาลีเป็นบ้านเกิดของศาสดามหาวีระ ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาเชน พระพุทธศาสนามิได้มาปักหลักปักฐาน ณ เมืองแห่งนี้ สืบเนื่องจากเกิดเหตุใหญ่คือ เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายเป็นเบือ ซากศพกองเกลื่อนอยู่ทั่วพระนคร โรคระบาดกำเริบหนัก กษัตริย์แห่งเจ้าลิจฉวีทำพิธีบวงสรวงและเชื้อเชิญศาสดาในศาสนาต่างๆ มาช่วยก็มิได้เป็นผลดี มีแต่เพียงพระพุทธองค์ที่ยังมิได้อาราธนามายังพระนคร
เหตุที่พระพุทธศาสนาปักหลักเมืองเวสาลี
ในที่สุดเจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิแนะนำให้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าซึ่งตอนนั้นประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์มาช่วย เจ้าลิจฉวีทั้งหลายไม่มีทางเลือกจึงมอบหมายให้มหาลิทูลพระพุทธเจ้า มหาลิซึ่งสนิทสนมชอบพอกันกับพระเจ้าพิมพิสาร เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารขอช่วยทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า พระเจ้าพิมพิสารช่วยทูลอาราธนา
พระพุทธองค์ พระองค์ก็ทรงรับนิมนต์ นอกจากจะช่วยคนแล้ว จะเป็นการช่วยทั้งสองอาณาจักรให้สามัคคีกันด้วย พระเจ้าพิมสารก็ปรารถนาเป็นมิตรกับเจ้าลิจฉวีด้วย จึงทรงอำนายความสะดวกตามส่งเสด็จพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป จนถึงพรมแดนคือแม่น้ำคงคา แล้วส่งสาสน์ให้เจ้าลิจฉวีทราบ เจ้าลิจฉวีส่งเรือมา รับข้ามฟาก
พระพุทธองค์เสด็จสู่เมืองเวสาลีโดยได้รับอาราธนาจากเจ้ามหาลิ ซึ่งเป็นตัวแทนของกษัตริย์ลิจฉวี เสด็จไปเพื่อปราบโรคร้ายคืออหิวาตกโรคเป็นผลสำเร็จ และได้โปรดเทศน์สอน ประชาชนเป็นจำนวนมากศรัทธา ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในเมืองนี้
บทพระปริตร (รตนสูตร, ระตะนะสูตร)
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จข้ามถึงฝั่งเวสาลี บันดาลให้เกิดฝนลงหนักพัดพาเอาซากศพลงน้ำหมด พื้นดินสะอาด ตอนเย็นก็เสด็จถึงประตูเมืองเวสาลีมีดำรัสให้พระอานนท์ ไปกับเจ้าลิจฉวี และให้สวดพระปริตรในระหว่างกำแพงทั้งสามชั้นของเมืองเวสาลี บทพระปริตร ที่ใช้สวดคือ รัตนสูตร ที่ใช้น้ำมนต์ เพื่อใช้สวดขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ ชาวพุทธไทยรู้จักกันดี เนื้อหาคือการพรรนาความเชื่อในพระพุทธคุณ พระธรรม และพระสงฆ์ และแผ่เมตตาหลักพุทธศาสนา ขึ้นต้นว่า
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ........เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ แปลว่า
ข้าพเจ้ามั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้เห็นจริงในอริยสัจจ์ ละแล้วซึ่งความชั่วช้าทั้งหลาย ทั้งกาย วาจา และใจ และพระองค์ไม่ได้ประสงค์สิ่งใดในโลกนี้ และโลกหน้า นอกจากพระนิพพาน อยากให้อยู่เป็นสุขทั่วหน้ากัน ด้วยความสัตย์นี้ ขอให้เขามีสวัสดิภาพดีทุกคนพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บเทอญ
พระอานนท์สวดพลางและพรมน้ำมนต์ไปพลาง ระหว่างกำแพงทั้ง ๓ ชั้น ชาวเมืองเกิดปีติศรัทธาในพุทธานุภาพ และฟังพระธรรมเทศนา อย่างเนืองแน่น พุทธศาสนาตั้งมั่นแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ชาวเมืองจะสร้างวัดถวาย จึงขอให้สร้างนอกเมืองเวสาลีทรงไม่ประสงค์จะทำให้ศาสนาเชนลำบากใจ ทรงสร้างอยู่ที่ป่ามหาวัน ทางตอนเหนือของเมืองวัชชีเชิงป่าหิมาลัย เรียกว่า กูฏาคารศาลา
บัญญัติพระวินัย
พระวินัย หมายถึง กฎระเบียบข้อบังคับ หรือขนมธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปในทางเดียวกันของหมู่ภิกษุสงฆ์ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เพื่อมีอาจาระอันงามเป็นระเบียบเรียบร้อย อันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติชอบ เป็นการเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติธรรมทางจิตต่อไป
พระวินัยที่ทรงบัญญัตินั้นมีลักษณะใหญ่ ๆ ๒ ประการ คือ
๑. พุทธบัญญัติ คือ ข้อที่พระองค์บัญญัติไว้ห้ามมิให้ประพฤติ ถ้าภิกษุรูปใดฝ่าฝืนพุทธบัญญัตินี้ จะมีโทษปรับอาบัติตั้งแต่เบา ๆ จนถึงมีโทษหนักที่สุด คือ ขาดจากความเป็นภิกษุเลยทีเดียว
๒. อภิสมาจาร คือ ข้อปฏิบัติหรือขนมธรรมเนียมที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติตามเพื่อให้มีอาจาระเป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เป็นระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติตน เกี่ยวกับความประพฤติเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การตัดผม การตัดเล็บ การอาบน้ำ การนุ่งห่ม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การฉันขบเคี้ยว เป็นต้น ซึ่งพระวินัยในส่วนนี้ไม่มีการปรับอาบัติไว้โดยตรง แต่ถ้าใครไม่เอื้อเฟื้อ ตามวิธีปฏิบัตินี้ก็ปรับโทษเพียงอาบัติเบา ๆ คือ ทุกกฏเท่านั้น
สิกขาบทนี้มีปฐมเหตุในการบัญญัติถึงสามครั้ง โดยพระบัญญัติครั้งแรกนั้นเรียกว่า มูลบัญญัติ (บัญญัติเดิม) ส่วนการบัญญัติซ้ำสิกขาบทนั้นอีกในครั้งต่อ ๆ มา (จะกี่ครั้งก็ตาม) เรียกว่าอนุบัญญัติ เหมือนกันทั้งหมด
อาบัติ หมายถึง การต้องโทษทางพระวินัย เพราะทำความผิดต่อพระพุทธบัญญัติ หรืออภิสมาจารที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้ล่วงละเมิด (ประพฤติ) ผู้ฝ่าฝืนต้องมีโทษตามที่กำหนดไว้ในพระวินัยแต่ละสิกขาบท ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ลดหลั่นกันไปจากโทษ หรืออาบัติที่หนักที่สุดคือขาดจากความเป็นภิกษุ โทษอย่างกลางต้องอยู่กรรมประพฤติมานัตจึงจะพ้นได้ และโทษอย่างเบาต้องประจานตนเองต่อหน้าภิกษุอื่นจึงจะพ้นได้
ซึ่งการลงโทษในทางพระวินัยไม่มีความยุ่งยาก ไม่ต้องสอบสวนหาผู้กระทำความผิด ยกเว้นอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส เช่น การลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นต้น
การบัญญัติพระวินัยนี้ พระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ความเสียหายน่าติเตียนของภิกษุบางรูปเกิดขึ้น พระพุทธองค์จึงประชุมพระสงฆ์ ไต่สวน ชี้ให้เห็นโทษ ทรงบัญญัติห้ามภิกษุรูปประพฤติเช่นนั้นอีก
พรรษาที่ ๑ ถึง ๑๑ พระองค์ยังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะพระภิกษุปฏิบัติดีงามต่อๆ กันมา หลังจากออกพรรษาที่ ๑๒ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทที่ ๑ ห้ามภิกษุเสพเมถุน โดยปรารภเหตุการณ์การมัวหมองที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์
กรณีของการบัญญัติปฐมปาราชิก
สิกขาบทที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุเสพเมถุน คือห้ามไม่ให้พระภิกษุร่วมเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
สมัยนั้นมีหมู่บ้านนามว่ากลันทะ ตั้งอยู่ไม่ไกลเมืองเวสาลี มีบุตรเศรษฐีนามว่าสุทินนะพร้อมด้วยสหายไปสู่กรุงเวสาลี เห็นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรม จึงแวะเข้าไปสดับธรรม มีความเลื่อมใสใคร่จะออกบวช
บิดามารดายังไม่อนุญาต อดอาหารถึง ๗ วัน ก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ออกบวชประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่ทางวัชชีคาม
ครั้งนั้นแคว้นวัชชี ซึ่งมีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี เกิดทุพภิกขภัย ขาดแคลนอาหาร พระสุทินนะมีญาติเป็นคนมั่งคั่งมาก เมื่อเดินทางไปถึงกรุงเวสาลี ญาติๆทราบข่าวก็นำอาหารมาถวายเหลือเฟือ พระสุทินนะ
ก็ถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง แล้วเดินทางไปกลันทคาม ตำบลบ้านเดิมของตน ความทราบถึงบิดามารดา บิดาจึงนิมนต์ไปฉัน มารดาก็นำทรัพย์สมบัติมาล่อเพื่อให้สึก พระสุทินนะไม่ยอมจึงไม่สำเร็จ ต่อมามารดาพระสุทินนะรอจนภริยาของพระสุทินนะ (ตั้งแต่ในสมัยยังไม่ได้บวช) มีระดู ได้กำหนดจะมีบุตรได้ จึงพานางไปหาพระสุทินนะที่ป่ามหาวัน ชวนให้สึกอีก พระสุทินนะไม่ยอม จึงกล่าวว่าถ้าไม่สึกก็ขอพืชพันธุ์ไว้สืบสกุล ครั้งนั้นยังไม่มีการบัญญัติวินัยห้ามเสพเมถุน พระสุทินนะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่พอทำได้ เพื่อให้มีบุตรสืบสกุล จึงเสพเมถุนด้วยภริยาของตน ซึ่งต่อมานางก็ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร บุตรของพระสุทินนะจึงได้นามว่าเจ้าพืช ภริยาของพระสุทินนะก็ได้นามว่า มารดาของเจ้าพืช ต่อมาทั้งมารดาและบุตรออกบวชได้สำเร็จอรหัตตผลทั้ง ๒ คน ส่วนพระสุทินนะ
เกิดความไม่สบายใจขึ้นภายหลัง ถึงขนาดซูบผอม ภิกษุทั้งหลายถาม ทราบความ จึงพากันติเตียนและนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนเรื่องนั้น ทรงติเตียนแล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุเสพเมถุน ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด
นี่คือความเป็นมาของการบัญญัติพระวินัย เมื่อพระศาสนามีความเจริญมีผู้ขอบวชมากขึ้นๆ ก็มีการประพฤติผิดมากขึ้นๆ เมื่อมีชาวบ้านมาฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวน หลังจากทรงทราบความแล้ว ทรงวินิจฉัยว่าควรไม่ควร ถ้าไม่ควรก็ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมา จนมีถึง ๒๒๗ ข้อด้วยกัน เพื่อให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะว่าพระสงฆ์เป็นผู้ที่ประชาชนศรัทธาเลื่อมใส เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนทั่วไป เป็นผู้มีศีลมีธรรม พระสงฆ์อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความเลื่อมใส ความศรัทธาของศรัทธาญาติโยม ผู้ทำนุบำรุงพระสงฆ์ด้วยเครื่องจตุปัจจัยไทยทานทั้งหลาย เช่น อาหารบิณฑบาต จีวร กุฏิที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค การที่จะรักษาศรัทธาของญาติโยมไว้ พระสงฆ์จึงต้องประพฤติปฏิบัติตนเองให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมความดีงามนั่นเอง
สังคายนาครั้งที่ ๒
หลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี เมืองเวสาลีเป็นสถานที่สังคายนาครั้งที่ ๒ ณ วัดวาลุการาม โดยมีพระยสกัณฑบุตรเป็นประธาน กษัตริย์พระนามว่าพระเจ้ากาฬาโศกราช เป็นผู้อุปถัมภ์ เหตุคือภิกษุวัชชี
แสดงกถาวัตถุ ๑๐ ประการ นอกพระธรรมวินัย
ปาวาลเจดีย์ (สถานที่ปลงอายุสังขาร)
ปาวาลเจดีย์ เป็นสถานที่ปลงอายุสังขาร พระองค์เสด็จมาที่นี่โดยมีพระอานนท์ติดตามมา พระองค์ประสงค์จะทรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อแสดงโอภาสนิมิตแก่พระอานนท์ เมืองเวสาลี ทัสนียภาพงาม บุคคลที่เจริญอิทธิบาทภาวนา ปรารถนาจะอยู่ต่อก็สามารถทำได้ มารดลใจพระอานนท์ทำให้ไม่ได้ทูลอาราธนา และพระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ให้หลีกทำสมาธิอีกทีหนึ่งเมื่อพระอานนท์หลีกไป
พระยามารได้ช่องได้โอกาสรีบเข้ามาอาราธนาให้พุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรมาร ผู้มีใจบาป ท่านอย่าพยายามเลย ไม่ช้าตถาคตก็จักปรินิพพาน อีก ๓ เดือนข้างหน้า ทรงปลงพระชนมายุสังขาร วันเพ็ญเดือน ๓ และเกิดแผ่นดินไหว พระอานนท์
รีบเข้ามาทูลถามเหตุแผ่นดินไหว พระองค์ตรัสเหตุ ๘ ประการ
๑. ผู้มีฤทธิ์ดลบันดาล
๒. ลมกำเริบ
๓. พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปฏิสนธิในพระครรภ์มารดา
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติกาล
๕. พระตถาคตตรัสรู้
๖. พระตถาคตแสดงปฐมเทศนา
๗. พระตถาคตปลงอายุสังขาร
๘. พระตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
พระสถูปปาวาลเจดีย์
ภายในปาวาลเจดีย์มีพระสถูปเก่าแก่ที่มุงด้วยเพิงสังกะสี สร้างครอบองค์สถูป โครงสร้างของหลังคาคล้ายกับสถูปทรงกลม ไม่มียอดแหลม ฐานล่างโบกด้วยปูน เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่กษัตริย์ลิจฉวีได้ รับแบ่งจากเมืองกุสินารา ซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ เมือง ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุได้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ปัตนะ
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
กุฎาคาร เป็น ๑ ใน ๕ ชนิดเสนาสนะ (ที่นอนที่นั่ง) ที่ระบุไว้ในบาลี แปลว่า เรือนยอด มีลักษณะสูง จะมีการทำยอดต่อจากหลังคาขึ้นไป
เป็นสถานที่กำเนิดภิกษุณีครั้งแรกรูปแรกในโลก คือนางปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะเสด็จยังเมืองกุสินารา พระองค์ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ทรงแสดงอัปปมาทธรรมแก่ภิกษุเมืองเวสาลีว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจของตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อีก ๓ เดือนข้างหน้าพระตถาคตจักเสด็จปรินิพพาน
รุ่งเช้าเสด็จบิณฑบาต ณ เมืองเวสาลี ทรงประทับยืนหันพระวรกายดูเมืองเวสาลี พลางตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ การทอดพระเนตรดูเมืองเวสาลี เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคต เรียกพระอาการนี้ว่า นาคาวโลกหรือการดูอย่างช้าง (เหมือนเหลียวหลัง) ประทับ ณ ภัณฑุคาม ตรัสเทศนาอริยธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ จากนั้นเสด็จไปยังหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ตรัสมหาปเทส ๔ เครื่องวินิจฉัยพระธรรมวินัยเสด็จสู่เมืองปาวา
พระสถูป
เป็นพระสถูปก่อด้วยอิฐทรงบาตรคว่ำ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ในบวรพระพุทธศาสนา
เสาหินศิลาจาลึก สิงห์ที่สมบูรณ์
เสาหินศิลาจาลึก ตรงจุดนี้ถือได้ว่าเป็นสิงห์ที่สมบูรณ์สูงสุดในบรรดาสิงห์ค้นพบ
วาลิการาม
เป็นวัดหนึ่งในเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี เป็นที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ชำระวัตถุ ๑๐ ประการที่เป็นเสี้ยนหนามพระธรรมวินัย ปัจจุบันมีเฉพาะส่วนที่เหลือจากการทำลายพอเป็นหลักฐานคือ ตรงส่วนเป็นรูปบาตรคว่ำของเจดีย์ไม่มีปลาย เนื่องจากชาวฮินดูตั้งไว้บูชา เพราะไม่มียอดเหมือนศิวลึงค์ แต่มีพระพุทธรูปปรากฏอยู่รอบๆ เป็นหลักฐานว่านี้คือหลักฐานทางพุทธศาสนา
สระมุรธาภิเษก
สระมุรธาภิเษกคือ สระน้ำราชาภิเษกของกษัตริย์ลิจฉวี เป็นสระศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง เป็นสระโบกขรณีที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นน้ำสำหรับราชาภิเษก เป็นที่หวงแหนมากสำหรับชาววัชชีตามที่ปรากฏในพระธรรมบท พระราชาองค์ใดจะรับตำแหน่งผู้บริหารจะต้องทำพิธีอภิเษกที่สระน้ำแห่งนี้ ปรากฏว่า พันธุละเสนาบดีเคยพาภรรยาบุกมาอาบน้ำในสระน้ำนี้ขนาดต้องผ่านตาข่ายเหล็ก ลวดหนาม โดยใช้เหล็กกล้าตัดจึงเข้าไปได้ แต่พันธุละเสนาบดีเป็นผู้เยี่ยมยุทธ์ จึงเข้าไปได้โดยไม่ยากนัก
ปัจจุบันนี้ เหลือเป็นรูปร่างสระอยู่ สระน้ำมีความกว้างขวางมาก
หลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
หลักอปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อมพระพุทธเจ้ายังเคยไว้ว่า ถ้ากษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนยึดมั่นในหลักธรรมเหล่านี้ ก็จะไม่มีความเสื่อม จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว คือ
๑. หมั่นประชุมเนื่องนิตย์
๒. พร้อมเพียงกันประชุมและเลิกประชุม
๓. ไม่บัญญัติสิ่งใหม่
๔. เคารพผู้ใหญ่
๕. ไม่ประพฤติข่มเหงรังแกสตรี
๖. เคารพปูชนียสถาน
๗. ให้การคุ้มครองสมณะพรามณ์
ตอนหลังกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตาม แตกความสามัคคีกัน ไม่มาประชุม ไม่ให้ความเคารพกัน จนในที่สุดตกเป็นเมืองขึ้นของ พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ
โทษของการทุศีล
พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทุศีล และศีลวิบัติ ๕ ประการ เมื่อพระองค์เสด็จถึงปาฏลีคาม คือปัตนะในปัจจุบัน ดังนี้คือ
๑. ผู้ไร้ศีลย่อมประสบความเสื่อมทางโภคทรัพย์
๒. ชื่อเสียงไม่ดีย่อมฟุ้งขจรไป
๓. ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน ไม่กล้าหาญเมื่อเข้าประชุม
๔. เมื่อใกล้ตาย ย่อมขาดสติสัมปชัญญะ คุ้มครองสติไม่ได้เรียกว่า หลงตาย
๕. เมื่อตายแล้ว ย่อมไปสู่อบาย วินิบาต นรก
กำเนิดภิกษุณีรูปแรก
พระนางปชาบดี โคตมี คือ ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา ได้รับการอุปสมบท ณ เมืองไพสาลี
ครุธรรม ๘ ประการ
๑. แม้ภิกษุณีบวช ๑๐๐ ปี ต้องไหว้ภิกษุบวชใหม่ในวันนั้น
๒. ไม่อยู่ในอารามที่ไม่มีภิกษุ
๓. รับธรรม ๒ ประการ คือ ถามอุโบสถ และฟังคำสั่งสอนจากภิกษุ
๔. ปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๕. ประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๖. อุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๗. ไม่พึงบริภาษภิกษุ
๘. ไม่พึงสั่งสอนภิกษุ
ภิกษุณีต้องรักษาศีล ๓๑๑ ข้อ
พระสูตรและชาดก
พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระสูตรอาทิเช่น มหาลิสูตร,ขาลิยสูตร, มหาสีหนาทสูตร จูฬสัจจกสูตร, มหาสัจจกสูตร, เตวิชสูตร, สุนักขัตตสูตร, รัตนสูตร และชาดกอาทิ เช่น เตโลรทชาดก, สิคารชาดก ฯลฯ
นางอัมพปาลี
นางอัมพปาลี เป็นนางคณิกา หรือ นครโสเภณี เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี นางเป็นโสเภณีคนแรกที่ได้บริจาคสวนมะม่วงของตน เพื่อสร้างเป็นสังฆารามถวายพระพุทธองค์ วัดจึงได้ชื่อว่า อัมพปาลีวัน
นางอัมพปาลี ตอนเกิดนั้น คนเฝ้าอุทยานได้พบเห็นอยู่ใต้ต้นมะม่วง นำไปเลี้ยงไว้ อัมพปาลี แปลว่า รักษาต้นมะม่วง หรือต้นมะม่วงรักษาไว้ ทำนองว่าเทพที่สิงอยู่ในต้นมะม่วงรักษาไว้
- ไม่ยอมขายกิจนิมนต์ให้เจ้าลิจฉวี
ในพรรษาสุดท้าย พระศาสดาได้เสด็จเมืองไพศาลี นางอัมพปาลีได้เข้าเฝ้า และอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันที่บ้าน ระหว่างทางนางได้พบกับเจ้าลิจฉวี พอทราบว่า การเสด็จของพระพุทธองค์ จึงขอให้นางสละสิทธิ์นั้นให้กับพวกตน นางไม่ยินยอม เจ้าลิจฉวีเสนอสิ่งของมีค่า เงินทองจำนวนมาก แต่นางไม่สนใจ
- ถวายวัด
วันรุ่งขึ้น นางได้ถวายภัตตาหาร และได้ถวายสวนมะม่วงให้เป็นอาราม เรียกว่า อัมพปาลีวัน
- วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
นางอัมพปาลีได้ฟังธรรมจากพระลูกชายชื่อ วิมละโกณฑัญญะ ได้ออกบวชเป็นภิกษุณี พิจารณาถึงความไม่เที่ยงแห่งสรีระร่างกายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ไพสาลี
มหานครไพสาลี เมือง.....มหาเจดีย์งามสง่า
เมือง...สมบูรณ์อโศกศิลา เมือง....วัดป่ามหาวันรื่นรมย์
เมือง....วัชชีธรรมลํ้าเลิศ เมือง....กำเนิดภิกษุณีปฐม
เมือง....ปลงอายุสังขารพระโคดม เมือง.....ชื่นชมราชาสามัคคี
เมือง....ตรัสสอนรัตนสูตร เมือง.....พิสูจน์บ่อมุรธาภิเษกศรี
เมือง....นาฏยัมระบำอัมพปาลี เมือง.....เศรษฐีใจบุญสุนทรทาน
เมือง....สังคายนาครั้งสองต้องปรากฏ เมือง.....นักพรตแก้ผ้าน่าสงสาร
เมือง....ปัจฉิมพรรษากาล เมือง....ตำนานบ้านแหลกแตกสามัคคี
ที่มา..คู่มือพระธรรมวิทยากร
|
|