ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
เมนูหลัก
ประวัติความเป็นมา
ติดต่อสอบถาม
หนังสือ
เอกสารยื่น ศ.ต.ภ.
พระพุทธรูป, ศิลปะคันธาระ, ศิลปะคุปตะ, ศิลปะปาละ, ทัวร์อินเดีย, เที่ยวอินเดีย, ทัวร์สังเวชนียสถาน, ทัวร์แดนพุทธภูมิ, ไหว้พระอินเดีย, tourindia, travelindia
พระพุทธรูป
ศิลปะคันธาระ
ศิลปะคุปตะ
ศิลปะปาละ
ข้อมูลอินเดียแดนพุทธภูมิ
ข้อมูลแดนพุทธภูมิ
แผนที่แดนพุทธภูมิ
พุทธคยา
ราชคฤห์-นาลันทา
ปัตนะ
ไวสาลี
เกสริยา
กุสินารา
กบิลพัสดุ์
กบิลพัสดุ์ ฝั่งอินเดีย
นิโครธาราม
รามคามสถูป นครเทวทหะ
ลุมพินี
สาวัตถี
สังกัสสนคร
สารนาถ
โกสัมพี
แคว้นอวันตี
Flag Counter
ข้อมูลอินเดีย
ข้อมูลพุทธสถาน
สาญจี
ถ้ำอชันตา
ถ้ำเอลโลร่า
ถ้ำออรังกาบัด
ถ้ำกัณเหรี
อโยธยา
ข้อมูลอินเดีย
ข้อมูลอินเดีย
นิวเดลี
อัครา
ฟาเตห์ปูร์ สิครี
ราชสถาน
หริทวาร, ฤาษีเกษ
จัมมู - แคชเมียร์
เลห์-ลาดักห์
อัมริตสาร์
มะนาลี-ชิมลา
ดารัมชาลา
เมืองลัคเนา
โกลกาตา
สะสาราม
พาราณสี
นิลกาย
มุมไบ
ข้อมูลอินใต้
ข้อมูลอินเดียใต้
รัฐเตลังคานา
เมืองกาญจีปุรัม
ฮัมปิ
รัฐอานธรประเทศ
ข้อมูลศรีลังกา
ข้อมูลศรีลังกา
ไหว้พระศรีลังกา
ข้อมูลอินโดนีเซีย
ข้อมูลอินโดนีเซีย
บุโรพุทโธ บาหลี
ข้อมูลพม่า
ข้อมูลพม่า
ย่างกุ้ง/ ไจโท้/หงสา/ สิเรียม
มัณฑะเลย์/พุกาม/อินเล/
ข้อมูลสิงคโปร์
ข้อมูลสิงคโปร์
สิงคโปร์
ข้อมูลมาเลเซีย
ข้อมูลมาเลเซีย
มาเลเซีย
ข้อมูลกัมพูชา
ข้อมูลกัมพูชา
เสียมเรียบ/นครวัด/นครธม
ข้อมูลลาว
ข้อมูลลาว
เวียงจันทร์/วังเวียง
หลวงพระบาง
ลาวใต้
ข้อมูลลาว
ข้อมูเวียดนาม
ฮานอย/ซาปา
ดานัง
โฮจิมินห์
ข้อมูลอินเดีย
โปรแกรมทัวร์ เดินทางคนเดี่ยว
สี่สังเวชฯ+อัครา+ราชสถาน+เดลี(21วัน)
สี่สังเวชฯ+สาญจี+อชันตา+เอโลร่า+มุมไบ (14วัน)
สี่สังเวชฯ+อัครา,ทัชมาฮาล+จัยปูร์+เดลี(11วัน)
ข้อมูลทวีปยุโรป
ข้อมูลทวีปยุโรป
ฝรั่งเศส
ลักเซมเบิร์ก
เยอรมนี
เบลเยียม
เนเธอร์แลนด์
อังกฤษ
อิตาลี
กรุงเทพ-ลอนดอน
ข้อมูลทวีปแอฟริกา (Africa)
ข้อมูลทวีปแอฟริกา
แอฟริกาใต้
ข้อมูลทวีปอเมริกา (America)
ข้อมูลทวีปอเมริกา
อเมริกา
สาวัตถี แคว้นโกศล

สาวัตถี แคว้นโกศล
เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าจำพรรษานานที่สุด คือ ๒๕ พรรษา จำพรรษาวัดพระเชตวัน ๑๙ พรรษา และวัดบุพพาราม ๖ พรรษา ในครั้งพุทธกาลกษัตริย์ที่ปกครองคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ต่อมาถูกพระราชโอรสคือวิฑูฑภะ ปฏิวัติยึดอำนาจปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ มีประชากรประมาณ ๗ โกฏิ เป็นเมืองที่พระพุทธองค์เสด็จตอนปลายพรรษาที่ ๒ กล่าวถึงพระสูตร มากที่สุด
คำว่า โกศล พระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวไว้ว่า ก็คือ กุศล ที่แปลว่า สุขสมบูรณ์ หรือสบายดี มีเรื่องอยู่ว่า เจ้ามหาปนาทไม่ยิ้ม พระราชบิดา ป่าวประกาศ ใครทำให้ยิ้มได้ จะมีรางวัลให้ เขาจึงสรรเสริญต่อผู้ที่ทำให้ยิ้มด้วยการทักทายว่าสบายดีหรือ ท่านตอบว่า กุศล กลายเป็นเมืองโกศล ส่วนสาวัตถี อาจจะมาจากชื่อของฤาษี สาวัตถะ หรือ มาจากคำว่าสัพพะ กับ อัตถะ แปลว่า บรรดาสิ่งของทั้งปวงที่พึงปรารถนามีอยู่พร้อมแล้วที่นี่
คัมภีร์วิษณุ ปุราณะ ของพราหมณ์กล่าวว่า สาวัตถี (ศราวาตี) สร้างโดยพระเจ้าศราวาตะ พระโอรสของพระเจ้ายุวนาสวะ แห่งตระกูลสุริยวงศ์ ปกครองราว ๑๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ในสมัยรามายณะ ได้กล่าวถึงนครสาวัตถี ว่าเป็นเมืองหลวงแคว้นโกศลเช่นกัน และสาวัตถีปกครองโดยลาวะ โอรสของพระราม
พ.ศ. ๒๑๘ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเสด็จมากราบพระเชตวันหลายครั้ง ในราว พ.ศ. ๒๓๖ โปรดให้สร้างสถูป วิหาร กุฏิที่จำพรรษา และปักเสาหินไว้ ๒ ต้น
พ.ศ. ๕๒๒ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ปกครองนครสาวัตถี พระองค์นับถือศาสนาพราหมณ์จึงได้ทำลายพุทธศาสนาลง โดยสังหารพระสงฆ์ และทำลายวัด ไม่นานพระวสุพันธะ ได้โต้วาทะกับพราหมณ์จนสามารถกลับใจพราหมณ์ให้มานับถือพุทธศาสนาสำเร็จ
พ.ศ. ๖๒๒ พระเจ้ากนิษกะ ขึ้นครองราชย์สมบัติที่ปุรุษปุระ หรือเปชวาร์ ในปากีสถานอาณาจักรคลอบคลุมถึงสาวัตถี ทรงนับถือพุทธศาสนา โปรดให้บูรณะอารามหลายแห่ง โดยเฉพาะพระเชตวันมหาวิหาร สถูป วิหาร ที่พักจำพรรษา
พ.ศ. ๘๑๘ (ค.ศ. ๒๗๕) พระเจ้าขีราทกะ ปกครองนครสาวัตถี พระองค์นับถือศาสนาพราหมณ์เช่นกัน แต่ไม่ได้ทำลายพุทธศาสนา
พ.ศ. ๙๐๐ พระพุทธเทพ ได้เป็นสังฆปาโมกข์แห่งอารามเชตะวัน
พ.ศ. ๘๒๓ จนถึง พ.ศ. ๑๐๙๓ (๒๘๐-๕๕๐) ราชวงศ์คุปตะ แม้ว่ากษัตริย์ราชวงศ์นี้ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาฮินดู แต่ก็ยังสนับสนุนพระพุทธศาสนา เช่น พระเจ้าตถาคตราชา พระเจ้าพุทธคุปต์ เป็นต้น
พ.ศ.๙๔๓ (ค.ศ. ๔๐๐) พระฟาเหียน เป็นพระสงฆ์จีนรูปแรกที่เดินทางมาจนถึงอินเดีย ท่านเดินทางมาถึงอินเดีย ได้เห็นสภาพที่รกร้างของเมืองสาวัตถี ท่านกล่าวว่า “ในแคว้นนี้มีผู้อาศัยเพียง ๒๐๐ ครอบครัวเศษ” ท่านยังเล่าอีกว่า “มีความพยายามของพราหมณ์ที่อิจฉาหวังจะทำลายพระเชตวันหลายครั้ง โดยรอบพระเชตวันยังพบอารามมากถึง ๙๘ แห่ง”
พ.ศ.๑๑๗๕ (ค.ศ.๖๓๒) พระถัมซัมจั๋งเดินทางมาที่สาวัตถี ได้กล่าวว่า อาณาจักรนี้ปริมณฑล ๖,๐๐๐ ลี้โดยประมาณ ตัวเมืองรกร้าง มีคนอาศัยอยู่ในเมืองเล็กน้อย ยังพบซากกำแพงเมืองปรากฏอยู่ มีสังฆาราม ๑๐๐ แห่ง แต่อยู่ในสภาพรกร้าง มีพระสงฆ์จำพรรษาเล็กน้อย สังกัดนิกายสัมมติยะ อันเป็นสาขาย่อยแห่งนิกายเถรวาท
พ.ศ. ๑๓๙๐ สมัยราชวงศ์ปาละ พระเจ้ามหิปาละ กษัตริย์องค์ที่ ๗ ได้โปรดให้มีการบูรณะพระเชตวัน
พ.ศ. ๑๕๖๓ สุลต่าน มาหมุด แห่งนครฆาชนี อาฟกานิสถาน ได้ยกกำลังโจมตีอินเดียทั้งประเทศ

นครสาวัตถี
พ.ศ. ๑๖๕๗ (๑๑๑๔) พระเจ้าโควินทจันทร์ พระมหาเหสีคือ พระนางกุมารเทวี (Kumardevi) เป็นพุทธมามกะ ได้สละพระราชทรัพย์ซ่อมแซมพระเชตวันที่ทรุดโทรมหลังการบุกทำลายของมาหมุดแห่งฆาชนี
พ.ศ. ๒๔๐๕ (ค.ศ. ๑๘๖๒) เชอร์อเล็กชานเดอร์ คันนิ่งแอม เดินทางมาสำรวจสาวัตถีได้พบซากพุทธสถานที่สาเหตุ มะเหตุ ต่อมาได้เริ่มขุดค้นได้พบพุทธรูปทำจากหินทรายแดง
พ.ศ. ๒๔๒๗ (๑๘๘๔-๕) นายวิลเลี่ยม โฮย ได้เข้าสำรวจขุดค้นต่อไปพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ กัลกัตตา สมัยอังกฤษปกครองนครสาวัตถีขึ้นกับแคว้นอุธ (Oudh) ปัจจุบันในเขตอุตตรประเทศ (Uttar pradesh )

สถานที่ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงละ ๔ แห่ง
แม้ว่าเมืองสาวัตถีจะไม่ใช่สังเวชนียสถาน แต่เป็นพุทธสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ละมี ๔ แห่ง
๑. โพธิบัลลังก์ แสดงที่ตรัสรู้ พุทธยา
๒. สถานที่แสดงปฐมเทศนา ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
๓. สถานที่เหยียบพระบาทครั้งแรก ประตูสังกัสสะนคร ครั้นลงจากเทวโลก
๔. ที่วางเท้าเตียง ๔ เท้า พระคันธกุฎี ในพระเชตวันมหาวิหาร

พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้หมอบกราบแทบพระบาทของ พระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า มีอะไรหรือจึงแสดงความเคารพถึงเพียงนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวสาวัตถี พระองค์ทรงกระทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศลอยู่ในความดี
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระชนมายุก็เท่ากับหม่อมฉัน ด้วยเหตุนี้แล หม่อมฉันจึงได้มีความรักความเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระภาคผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากกราบทูลลาหลีกไป พระพุทธเจ้ามีรับสั่งกับภิกษุว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสธรรมเจดีย์ ธรรมเจดีย์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์
โทณปากสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาว่า “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะ ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า และมีอายุยืน” เวลาเสวยจุ สุทัสนกุมาร พระนัดดาจะกล่าวพระคาถานี้ เพราะพระองค์มีน้ำหนักมาก ประยืนไม่คล่องแคล่ว มีอาการอึดอัด หลังจากที่พระวรกายกระปรี้กระเปร่าคล่องแคล่วขึ้น ทรงระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์
สมัยหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลถามว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นเจ้าลัทธิ มีชื่อเสียง เมื่อถูกถามยังไม่กล้าปฏิญานตนได้ว่าตรัสรู้ ส่วนพระโคดมมีพระชันษาน้อย เป็นผู้ใหม่ในบรรพชิต ไฉนจึงกล้าปฏิญานได้เล่า พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
สิ่ง ๔ ประการ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย คือ
๑. กษัตริย์ทรงพระเยาว์ เมื่อพิโรธย่อมลงโทษถึงความตายได้
๒. งูตัวเล็ก เมื่อถูกฉกกัด ย่อมถึงแก่ชีวิตได้
๓. ไฟกองเล็ก เมื่อได้เชื้อเพลิงใหญ่โต ย่อมเผาผลาญทั้งเมืองให้มอดไหม้ได้
๔. ภิกษุบวชใหม่ ด้วยคุณธรรม เดชแห่งศีล ย่อมทำความพินาศแก่ผู้นั้น

มงคลสูตร
ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ท้าวสักกะให้เทวดาองค์หนึ่งมากราบทูลถวายพระพุทธองค์ว่า “เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลายมาเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ขอพระพุทธองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดว่าคืออย่างไร เพื่อนำประโยชน์สุขมาให้โดยส่วนเดียวแก่ชาวโลกทั้งปวง”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาตอบว่า “การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วใน กาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ พาหุสัจจะ ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑ การบำรุงบิดา ๑ การบำรุงมารดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ การงดเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมตามกาล ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ จิตอันไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ จิตเกษม ๑
นี้เป็นอุดมมงคล เป็นมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประพฤติมงคลเช่นนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ”
วัดพระเชตวันมหาวิหาร
วัดพระเชตวัน เป็นวัดที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ชื่อวัดเป็นชื่อของเจ้าเชต ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ๓๒ เอเคอร์
พ.ศ. ๑๓๙๐ สมัยพระเจ้ามหิปาละ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์
พ.ศ. ๑๕๖๐ มะหะหมัด ดัชนี นำกองทัพอิสลาม มาทำลายบริเวณวัดพระเชตวัน
๑. พระคันธกุฎี เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า มีกษัตริย์และเทวดามาเข้าเฝ้า และได้สร้างที่ประทับใน ๓ ฤดู คือ ๑. ฤดูหนาว ๒. ฤดูร้อน และ ๓. ฤดูฝน
๒. อานันทโพธิ เป็นต้นโพธ์ิที่พระอานนท์ดำริที่จะปลูกขึ้นเพื่อเพื่อตรึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า อรรถกถากาลิงคชาดก กล่าวไว้ว่า
ชาวกรุงสาวัตถี ต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยัง พระเชตวัน วางไว้ที่ประตูพระคันธกุฎี ท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีทราบเหตุนั้นแล้ว จึงไปยังสำนักพระอานนท์เถระ เมื่อพระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไป มนุษย์ทั้งหลายไม่มีสถานที่บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ขอท่านจงกราบทูลความเรื่องนี้แด่พระตถาคต ควรหาที่บูชาสักแห่งหนึ่ง
พระอานนท์เถระทูลถามพระตถาคตว่า เจดีย์มีกี่อย่าง พระศาสดาตรัสตอบว่า พระศาสดาตรัสว่าธาตุเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ อุทเทสิกเจดีย์ ๑ สำหรับธาตุเจดีย์ไม่อาจทำได้ ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน พระอานนท์ขอพระมหาโมคคัลลานเถระ ให้้ช่วยนำเอาลูกโพธิสุกจากต้นมหาโพธิ พระมหาโมคคัลลานเถระรับคำแล้ว เหาะไปยังโพธิมณฑลเอาจีวรรับลูกโพธิที่หล่นจากขั้วแต่ยังไม่ถึงพื้นดิน ได้แล้วนำมาถวายพระอานนทเถระ พระอานนท์เถระนำลูกโพธิสุกมอบแด่พระเจ้าโกศล พระเจ้าโกศลทรงพระดำริว่า ความเป็นพระราชามิได้ดำรงอยู่ตลอดไป ควรที่จะให้อนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีปลูกต้นโพธินี้ แล้วได้วางลูกโพธิสุกนั้นไว้ในมือของมหาเศรษฐี พระอานนท์เถระเข้าไปเฝ้าพระตถาคต กราบทูลขอพระองค์จงประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ์ เพื่อเข้าสมาบัติ
๓. วิหารธรรมสภา ในบ้านเราก็คงจะเป็นศาลาการเปรียญ เป็นสถานที่โปรดพุทธบริษัททั้งหลายที่มาชุมนุม และเป็นจุดกำเนิดคำสอนในพระสูตร คาถาธรรมบทจำนวนมาก แม้แต่นางปฏาจารา ผู้เสียสติก็มาได้สติ ณ วิหารธรรมสภาแห่งนี้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมสภา” ว่า a hall for the discussion of the Dhamma, a chapel, meetinghouse (ศาลาสนทนาธรรม, ห้องชุมนุมธรรม, โรงประชุม) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ธรรมสภา” ไว้ดังนี้ -
ธรรมสภา : ที่ประชุมฟังธรรม, โรงธรรม; แต่เดิม ในพระไตรปิฎก “ธรรมสภา” เป็นคำที่ใช้น้อย (พบในเรื่องอดีตก่อนพุทธกาลครั้งหนึ่ง คือ ในวิธุรชาดก, ขุ.ชา. ๒๘/๑๐๔๐/๓๖๒, เป็นอาคารหลวงในเมืองอินทปัตถ์ หรืออินทปัตต์ ในกุรุรัฐ, และอีกครั้งหนึ่ง เป็นคาถาประพันธ์ของพระอุบาลีมหาสาวก, ขุ.อป.๓๒/๘/๖๓, กล่าวเป็นความอุปมาว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระธรรมราชา ได้ทรงสร้างธรรมนครขึ้น ในธรรมนครนี้ มีพระสุตตันตะ พระอภิธรรม พระวินัย และพุทธพจน์มีองค์ ๙ ทั้งสิ้น เป็นธรรมสภา), ต่อมา ในชั้นอรรถกถา “ธรรมสภา” ได้กลายเป็นคำสามัญอันใช้เรียกที่ประชุมฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เช่น ในวัดพระเชตวัน เช่นเดียวกับคำว่า “คันธกุฎี” ที่อรรถกถาใช้เรียกพระวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า ดังข้อความในอรรถกถา (เช่น องฺ.อ.๑/๑๐๑/๗๔) ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี มาประทับนั่งเหนือพระบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในธรรมสภา”, อาคารที่อรรถกถาเรียกว่าธรรมสภานี้ ตามปกติก็คืออาคารที่ในพระไตรปิฎกเรียกว่า “อุปัฏฐานศาลา” (ศาลาที่ภิกษุทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อฟังพระพุทธโอวาทและสดับพระธรรมเทศนา) ดังที่ท่านไขความว่า “คำว่า ‘ในอุปัฏฐานศาลา’ หมายความว่า ‘ในธรรมสภา’” (อุปฏฺฐานสาลายนฺติ ธมฺมสภายํ, วินย.ฏี.๒/๑๓๔/ ๒๗๗).
ที่มา...facebook: ทองย้อย แสงสินชัย
๔. วิหารสังฆสภา เป็นที่ประชุมสงฆ์ สัมมนา ทบทวนหลักธรรม พิจารณาการร้องเรียนจากพุทธบริษัท
๕. พระสถูปอรหันต์แปดทิศ จะมีพระเจดีย์หลายองค์ ตั้งตระหง่านเรียงรายงดงาม พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาคัดเลือกพระมหาเถระที่มีคุณวิเศษ ๙ องค์มาประชุม พระองค์นั่งตรงกลาง เพื่องานประกาศพระศาสนา
พระอัญญาโกณฑัญญะ (รัตตัญญู) ทิศบูรพา
พระมหากัสสปะ (ธุดงควัตร) ทิศอาคเนย์
พระสารีบุตร (ปัญญา) ทิศทักษิณ
พระอุบาลี (พระวินัย) ทิศหรดี
พระอานนท์ (พุทธอุปัฏฐาก) ทิศปัจฉิม
พระควัมปติ (มีพลัง) ทิศพายัพ
พระมหาโมคคัลลานะ (ฤทธิ์) ทิศอุดร
พระราหุล (การศึกษา) ทิศอีสาน
๖. โภชนศาลา คือ หอฉัน เป็นสถานที่ฉันภัตตาหาร น้ำปานะ ตลอดจนต้อนรับพระอาคันตุกะจากทิศทั้ง ๔
๗. คิลานเภสัชศาลา เป็นสถานพยาบาทภิกษุไข้
โย ภิกฺขเว มํ อุปฎฺฐเหยฺย โส คิลานํ อุปฎฺฐเหยฺย
ผู้ใดปรารถนาอุปัฎฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงอุปัฎฐากภิกษุไข้เถิด
เรื่องพระอาพาธโรคท้องร่วง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒
ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรกองคูถของตนอยู่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์เป็นผู้ติดตามได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุรูปนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้น นอนอาพาธเป็นโรคท้องร่วง

ภาพ : พระพุทธองค์ทรงพยาบาลภิกษุไข้

เพราะเหตุที่ท่านรูปนี้ มิได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลท่านรูปนี้ พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอไปตักน้ำมา เราจักสรงน้ำภิกษุรูปนี้ ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้แล้ว ตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาคทรงรดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงยกศีรษะท่านพระอานนท์ยกเท้าแล้ววางบนเตียง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอด ชีวิต หรือจนกว่าจะหาย
ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ พระพากุลเถระ ท่านยังเป็นผู้ที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่เคยให้ หมอรักษาพยาบาล ไม่เคยฉันแม้แต่ผลสมออันเป็นยาสมุนไพรแม้แต่เพียงผลเดียว เพราะว่าท่าน ไม่มีโรคใด ๆ เลยนั่นเอง ทั้งนี้เป็นเพราะด้วยอานิสงส์แห่งการสร้างเว็จกุฎี (ส้วม) และการถวายยาเป็นทานแก่พระสงฆ์ เป็นเหตุให้ท่านมีอายุยืนยาว
ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพาธ ๘. กุฏิพระสงฆ์ (กุฏิพระสีวลี, หมู่ภิกษุโกสัมพี ฯลฯ) เป็นสถานที่ก่อด้วยอัฏฐิได้การบูรณะอยู่เนื่องๆ

คฤหาสน์อนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ซากอิฐที่ก่อไว้ และภายในบ้านยังมีคลังเก็บมหาสมบัติอีกด้วย เป็นเศรษฐีผู้ใจบุญค้ำจุนพระศาสนามาโดยตลอด

บ้านปุโรหิตผู้เป็นบิดาของพระองคุลีมาล
บ้านองคุลีมาล คือจอมโจรผู้กลับใจ มาเป็นบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปัจจุบันสภาพบ้านก่อด้วยอิฐ ด้านล่างสุดมีอุโมงค์ทะลุอีกฝั่งได้ด้วย

ยมกปาฏิหาริย์สถูป
เนินดินยมกสถูป คงเป็นเนินดินที่พระเจ้าอโศกมหาราชมาสร้างไว้ กาลเวลาผ่านไป มีหญ้าขึ้นปรากฏเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ในอดีต ณ สถานที่แห่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ เพื่อปราบเดียรถีย์ (นอกศาสนา) พระพุทธองค์เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี รับสั่งกับพระเจ้าปเสนทิโกศล
ว่า พระองค์ทรงมีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ณ ชานกรุงสาวัตถี ในวันเพ็ญ เดือน ๘ คำท้าทายของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ ทำให้ประชาชนชาวเมืองสาวัตถีเกิดความตื่นเต้นในอภินิหารของพระบรมศาสดา เหตุที่พระบรมศาสดาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี ก็เพราะเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาองค์ก่อน ๆ เคยมาแสดงยมกปาฏิหาริย์มาแล้วอย่างหนึ่ง
เนื่องจากพวกเดียรถีร์นิครนถ์ฉวยโอกาสที่พระพุทธองค์ห้ามสาวกมิให้แสดงอิทธิ ปาฏิหาริย์ จึงท้าทายพระบรมศาสดาให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เป็นการแข่ง พวกเดียรถีย์นิครนถ์รู้เข้าก็หาทางกลั่นแกล้ง เช่น พอรู้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่ใกล้ไม้คัณฑามพฤกษ์ คือ ต้นมะม่วง ก็เที่ยวหาซื้อและขุดทิ้งหมด ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อนายอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อคัณฑกะ สอยมะม่วงในอุทยานติดมือไปผลหนึ่ง เมื่อได้เฝ้าพระพุทธองค์กลางทาง จึงถวายมะม่วงผลนั้น พระพุทธองค์เสวยเนื้อมะม่วงแล้ว ให้นายคัณฑกะเพาะเมล็ดลงในดิน ทรงล้างพระหัตถ์รดลงบนเมล็ดมะม่วงนั้น ทันใดนั้นก็เกิดต้นมะม่วงงามสูง ๕ ศอก ออกลูกติดต้น ใครมาก็ได้กินทั่วกันเป็นอัศจรรย์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์คู่ เช่น ทำให้ไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องบน น้ำพลุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง ไฟพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า น้ำพลุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง ไฟพลุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องซ้าย น้ำพลุ่งออกจากพระหัตถ์เบื้องขวา น้ำพลุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา น้ำพลุ่งออกจากพระกรรณซ้าย ซึ่งพวกเดียรถีย์นิครนถ์ไม่มีปัญญาทำได้เลย ต้องแตกพ่ายแพ้ไปอย่างไม่เป็นท่า หลวง จีนบันทึกว่าได้เห็นสถูปหลายองค์ด้วยกัน องค์หนึ่งเข้าใจว่าจะเป็นองค์นี้ที่หลวงจีนว่า พระเจ้าอโศกทรงสร้างเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงสร้างหลักศิลาไว้หลังหนึ่งด้วย หลวงจีนเล่าเรื่องอัศจรรย์ในสมัยนั้นว่า ที่สถูปนี้มักจะมีเสียงดนตรีสวรรค์บรรเลง บางทีก็มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปหมด

เมื่อพระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก เพื่อเทศนาโปรดพุทธมารดาตามประเพณีของ พระพุทธองค์ก่อน ๆ และทรงจำพรรษา ๑ พรรษาบนดาวดึงส์ เมื่อใกล้จะออกพรรษาทรงทราบว่า พระสารีบุตรอัครสาวกไปจำพรรษาอยู่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๓๐ โยชน์ จึงทรงตกลงพระทัยเสด็จจากดาวดึงส์ไปลงที่สังกัสสะ ในวันออกพรรษาเทโวโรหณะนั้นเอง

วัดบุพพาราม
วัดบุพพาราม, พระวิหารบุพพาราม เป็นพระวิหารที่อยู่ใกล้เคียงกับมหาวิหารเชตวันของนครสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล นางวิสาขามิคารมารดา มหาอุบาสิกาผู้เป็นเอตทัคคะในบรรดาทายิกาทั้งปวงเป็นผู้สร้างถวาย โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้าน หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดารับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง พระพุทธองค์เสด็จมาจำพรรษาที่วัดบุพพารามเป็นเวลา ๖ พรรษา ลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างถึง ๙ เดือน

วัดราชิการาม
ราชิการาม ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง แรกทีเดียวเป็นสถานที่ตั้งอารามของคณาจารย์นอกพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงย้ายสำนักของคณาจารย์เหล่านั้นออกไปเสีย และทรงสร้างราชิการามไว้เป็นที่อยู่ของภิกษุณี ซึ่งในครั้งนั้นมีนางภิกษุณีสุมณา ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระองค์เอง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรหลายพระสูตรเช่น นันทโกวิทสูตร และพระธรรมเทศนาอีกหลายพระสูตร อันมีมาในสังยุตนิกาย เป็นต้น
ในอรรถกถาธรรมบทได้กล่าวไว้ว่า สมัยนั้น ในกรุงสาวัตถี มหาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น เหล่าเดียรถีย์ ลาภสักการะได้เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ เป็นเหตุให้พวกเดียรถีย์หาทางทำลายพระพุทธศาสนาทุกวิถีทาง มีความเห็นพ้องกันว่า สำนักของพระสมณโคดมเป็นทำเลที่ดี การคมนาคมสะดวก เหล่าเดียรถีย์จึงคิดสร้างสำนักของตนขึ้น ณ หลังพระเชตวันวิหาร ได้นำเครื่องบรรณาการไปถวายแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วขอพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างสำนักของตน
ขณะดำเนินการก่อสร้าง พระพุทธองค์ทรงดำริว่า การนี้อาจเป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนาในอนาคต จึงให้พระอานนท์ไปทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าพบ ไม่ว่าจะเป็นพระอานนท์ พระสารีบุตร หรือ พระโมคคัลลานะ พระบรมศาสดาจึงต้องเสด็จไปด้วยพระองค์เอง ทรงยก ภรุชาดก เป็นอุทาหรณ์ว่า “ใน อดีตมี นักบวช ๒ จำพวก พำนักอยู่ ณ โคนต้นไทร พวกหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือ พวกหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ ต่อมาต้นไทรทางทิศใต้เกิดเหี่ยวแห้งตายหมด จึงอพยพไปทางทิศเหนือ ประสงค์จะไปอยู่ ณ ที่นั้น เกิดทะเลาะกับพวกที่อยู่ก่อน เพราะการแย่งที่พำนัก จึงพากันไปให้พระราชาแห่งกรุงภรุตัดสิน นักบวชฝ่ายหนึ่งได้ถวายเรือสำหรับเป็นราชพาหนะแก่ภรุราชา พระ ราชาตัดสินให้ฝ่ายที่มอบเรือเป็นผู้ชนะ ด้วยความลำเอียงทำให้เทวดาที่อยู่ในภรุรัฐทั้งสิ้นโกรธ เพราะเหตุที่พระราชาทำให้ผู้มีศีลทะเลาะกันด้วยอำนาจแห่งฉันทาคติ เทวดาจึงบันดาลให้เมืองภรุจมลงไปใต้ทะเล ประสบความพินาศอย่างใหญ่หลวง ล่มจมลงทั้งแว่นแคว้น”
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับดังนั้น จึงมีรับสั่งให้ขับนักบวชเหล่านั้นออกไป แล้วทรงสร้างที่นั้นให้เป็นอารามสำหรับภิกษุณี พระราชทานนามว่า ราชการาม

วัดพุทธนานาชาติ
วัดไทย และวัดนานาชาติอีกหลายวัด

ภิกษุชาวแคว้นโกศล
พระวักกลิ พระยโสชะ พระกุณฑธานะ พระปิลินทวัจฉะ พระมหาโกฏฐิตาพระโสภิตะ พระอุปวาณะ พระองคุลิมาล พระสาคตะ พระเสละ พระวังคีสะ พระลกุณฑกภัททิยะ พระกุมารกัสสปะ พระนันทกะ พระสุภูติ และพระกังขาเรวตะ

กลุ่มพระมานพ ๑๖ มี ๑๖ รูป พระอชิตะ พระติสสเมตเตยยะ พระปุณณกะ พระเมตตคู พระโธตกะ พระอุปสีวะ พระนันทะ พระเหมกะ พระโตเทยยะ พระกัปปะ พระเชตุกัณณี พระภัทราวุธ พระอุทยะ พระโปสาละ พระโมฆราช พระปิงคิยะ

ประวัติพระสีวลี (ผู้มีลาภมาก)
พระสีวลีเกิดในตระกูลวรรณะกษัตริย์ เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา เมืองกุณฑโกลิยนคร (เป็นเมืองหนึ่งของกษัตริย์โกลิยวงศ์) เป็นพระญาติฝ่ายพุทธมารดา พอประสูติจากครรภ์แล้ว สามารถทำงานได้เลย ในวันนั้นได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกมาฉันพระกระยาหารในวัง
พอวันที่ ๗ พระสารีบุตรชวนบวช และได้รับอนุญาตจากพระมารดา พอบวชได้แล้วมีลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก พระสารีบุตรสอนให้ท่านกำหนดส่วนของร่างกายที่เห็นได้งายก่อน ๕ ส่วน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หลังจากปลงผมจุกที่ 4 ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหัตผล อาศัยเหตุที่จิตปรารถนามาดีในอดีตชาติ ถ้าจะนับกันแล้วท่านใช้ชีวิตฆราวาสเพียงเจ็ดวันเท่านั้น
อดีตชาติพระสีวลี
ในสมัยพระพุทธเจ้าปทุตตระ ได้เกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี
ได้ฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าตั้งพระสาวกไว้ในตำแหน่งผู้มีลาภมาก เกิดศรัทธาอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง แสดงศรัทธาให้ปรากฏได้ถวายมหาทานติดต่อกัน ๗ วัน ได้กราบทูลถึงความปรารถนาของตน ได้รับพยากรณ์ว่า ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้าจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธโคดม จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งด้านมีลาภมาก แล้วเกิดความปีติโสมนัสได้ทำบุญอื่นสนับสนุนต่อเนื่องตลอดชีวิต จนถึงพระพุทธเจ้าวิปัสสี เกิดเป็นคนบ้านนอก ใกล้เมืองพันธุมดี
ได้ถวายรวงผึ้งชนิดไม่มีตัวและเนยแข็งแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ทำให้งานบุญครั้งนี้สมบูรณ์ และสิ่งนี้เป็นที่ต้องการ เดิมทีชาวเมืองถามชื้อแต่ท่านไม่ขาย หลังจากพระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า วันนี้ได้นำเครื่องสักการะมาถวาย ด้วยผลบุญนี้ของข้าพระองค์จงเลิศด้วยลาภและยศในอนาคตกาลด้วยเถิด” พระองค์ทรงพยากรณ์อย่างที่พระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ต่อมาได้เกิดเป็นพระราชา เมืองพาราณสี มีความประสงค์อยากได้เมืองใกล้เคียงเป็นเมืองขึ้น ได้ยกทัพไปล้อมได้ส่งสาส์นไปยังผู้ครองเมืองนั้น ระหว่างสงครามกับความสงบ เจ้าเมืองนั้นไม่สนใจให้ชาวเมืองใช้ชีวิตตามปกติ และออกทางประตูเล็ก เพราะว่าข้าศึกไม่รู้ ปิดล้อมเมืองนานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ประชาชนดำเนินชีวิตตามปกติเหมือนเช่นเคย ภายในเวลาอีก ๗ วัน ก็สามารถยึดเมืองได้ โดยวิธีการช่วยเหลือจากพระมารดา แนะให้พระโอรสปิดล้อมประตูเล็กด้วย ปรากฏว่า ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวเมือง ขาดแคลนอาหาร ชาวเมืองรวมตัวกันทูลขอร้องให้ยอมจำนน พระองค์ปฏิเสธ เพราะว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุความเดือดร้อน ศัตรูต่างหากที่ทำผิดขัตติยมานะ ในที่สุดชาวบ้านทนไม่ไหวรวมคนกันปฏิวัติ จับเจ้าเมืองประหารชีวิต ยอมแพ้ต่อพระเจ้าพาราณสี
บาปกรรมครั้งนั้นทำให้ท่านตกอเวจีมหานรกนานมาก จนถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เศษบาปกรรมที่ยังเหลืออยู่ส่งผลให้ อยู่ในท้องแม่นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ได้รับทุกขเวทนาอย่างมาก

ประวัติพระองคุลิมาล
พระองคุลิมาล เป็นบุตรพราหมณ์ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล

- เกิดฤกษ์โจร
ในวันที่ท่านเกิด อาวุธนานานชนิดทั่วพระนครลุกโพลง ท่านปุโรหิตทำนายว่า ทารกที่เกิดวันนี้ จักเป็นโจร เที่ยวฆ่าผู้คน แนะนำพระราชาให้ฆ่าเสียแต่ตอนนี้ เหตุที่เกิดมาเบียดเบียนพระหฤทัยพระราชา ฉะนั้น จึงตั้งชื่อหิงสกะ ภายหลังจึงเรียก อหิงสกะ

- ศึกษาศิลปะ เมืองตักกศิลา
ศึกษาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักกศิลา คือเป็นศิษย์ที่ทำงานให้อาจารย์ ปฏิบัติต่อพราหมณ์และภรรยาอาจารย์โดยความเคารพ ศิษย์อิจฉาริษยาจึงยุยงให้แตกกับอาจารย์

- ฆ่าคนเพื่อคารวะครู
อาจารย์ออกอุบายให้ว่า ให้บูชาครูอาจารย์ ด้วยการนำเอานิ้วมือมนุษย์ ๑,๐๐๐ นิ้ว อหิงสกะได้ฆ่าผู้คนจำนวนมาก ตอนแรกตัดนิ้วมือห้อยไว้ที่ยอดไม้ ถูกแร้งกากินบ้าง ตอนหลังนำสะพายไหล่ ทำเป็นพวง จึงสมัญญาว่า องคุลิมาล

- พระพุทธองค์เสด็จโปรด
พระราชามีรับสั่งให้จับโจรองคุลิมาล นางพราหมณีผู้เป็นแม่จึงรีบไปหาลูก ด้วยความรักในบุตร ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้เสด็จโปรด องคุลิมาล จักฆ่ามารดาเป็นแน่ พอเห็นมารดาจึงเอาดาบวิ่งไล่ฆ่า พระองค์ทรงแสดงพระองค์ในระหว่างนั้น พอเห็นพระพุทธเจ้า จึงคิดที่จะปลงชีวิตสมณะ ถือดาบติดตามพระพุทธเจ้าไปข้างหลัง พระองค์ทรงแสดง อิทธาภิสังขาร องคุลิมาลวิ่งจนสุดแรงไม่อาจตามทันพระองค์ โดยพระองค์ยังทรงเดินตามปกติ จึงกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า
องคุลิมาล : “หยุดเถิด หยุดเถิดสมณะ”
พระพุทธองค์ : “เราหยุดแล้ว องคุลิมาล เธอนั่นแหละยังไม่หยุด”
เขาคิดว่าปกติพระสมณศากยบุตร พูดแต่คำสัตย์จริง
“ดูก่อนองคุลิมาล เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงเสียแล้ว ส่วนท่านสิยังไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ส่วนท่านชื่อว่ายังไม่หยุด” องคุลิมาลเกิดความปีติโสมนัส ทูลขอบวช ภายหลังบวชติดตามพระพุทธเจ้า จนเสด็จถึงพระนครสาวัตถี

- พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพบ
พระองคุลิมาล
มหาชนได้มาทูลเรื่องโจรองคุลิมาลแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ได้นำทหารจำนวนหนึ่งเพื่อจับโจร ก่อนที่จะไป ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ถามว่า มหาบพิตรขัดเคืองเรื่องอันใด พระเจ้าปเสนทิโกศลประสงค์ที่จะจับโจรองคุลิมาล ที่ไล่เข่นฆ่าผู้คน
พระพุทธเจ้า ดูก่อน มหาราช ถ้ามหาบพิตรทอดพระเนตรองคุลิมาล ปลงผม บวชเป็นภิกษุ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ประพฤติธรรม พระองค์จะกระทำอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันพึงไหว้ พึงลุกรับ ปูอาสนะต้อนรับด้วยเคารพ อุปถัมภ์บำรุงปัจจัย มีจีวร อาหาร เป็นต้น แต่องคุลิมาลเป็นโจร ทำบาป คงจะกลับใจยาก สมัยนั้นองคุลิมาลนั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ยกมือขวาขึ้นชี้ บอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ดูก่อนมหาบพิตร นั่นองคุลิมาล พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงมีความกลัว ทรงหวาดหวั่นขนลุกชูชัน พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าทรงกลัวเลย มหาบพิตร เมื่อทรงระงับความกลัวได้แล้ว จึงเสด็จเข้าไปหาท่านองคุลิมาล
ปเสนทิโกศล : บิดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร มารดาของพระผู้เป็นเจ้ามีโคตรอย่างไร
องคุลิมาล : ดูก่อนมหาบพิตร บิดาชื่อ คัคคะ มารดาชื่อ มันตานี
ปเสนทิโกศล : ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้เป็นเจ้าคัคคะมันตานีบุตร จงอภิรมย์เถิด ข้าพเจ้าจักทำความขวนขวาย เพื่อจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร แก่พระผู้เป็นเจ้าคัคคะมันตานีบุตร ท่านองคุลิมาล : ได้ถวายพระพรว่า ไตรจีวรอาตมภาพบริบูรณ์แล้ว
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานบุคคลที่ใครๆ ทรมานไม่ได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้สงบไม่ได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้ดับไม่ได้ ให้ดับได้ เพราะว่าหม่อมฉันไม่สามารถจะทรมานผู้ใดได้ แม้ด้วยอาชญา แม้ด้วยศาสตรา ผู้นั้นพระพุทธองค์ทรงทรมานได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราวุธ
- บรรลุพระอรหันต์
พระองคุลิมาล หลีกออกจากหมู่ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ครั้นนั้น เวลาเช้า ได้บิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ผู้คนนำก้อนหิน ท่อนไม้ ขว้างถูกตัวท่าน ศีรษะเลือดออก บาตรแตก ผ้าสังฆาฏิฉีกขาด เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า เธอจงอดกลั้นเถิดพราหมณ์ เธอจงอดกลั้นเถิดพราหมณ์ เธอจงเสวยวิบากของกรรม ที่จะทำให้ไหม้ในนรกหลายพันปีนั้น เฉพาะในปัจจุบันเถิดพราหมณ์
- องคุลิมาลคาถา
รุ่งเช้า ท่านเที่ยวบิณฑบาตได้พบหญิงคนหนึ่งมีครรภ์แก่ กลับไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า เธอจงไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าว อย่างนี้ “ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เวลาที่ฉันเกิดแล้วในอริยชาติ จะแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตทั้งรู้หามิได้ ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่าน”

อดีตชาติองคุลิมาล
- มีกำลังเท่ากับช้าง ๗ เชือก
ได้เกิดเป็นชาวนา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าที่กำลังหนาว มีจีวรชุ่ม เพราะฝนตก เกิดความดีใจอย่างมากที่จะได้ทำความดี จึงได้ก่อไฟถวาย ด้วยผลกรรมนั้นส่งผลให้มีกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก

ประวัติพระอุบาลี (เลิศทางด้านทรงจำพระวินัย) พระอุบาลี เกิดในวรรณหีนชาติ (วรรณะชั้นต่ำ) เป็นช่างกัลบก (ตัดผม) ประจำพระองค์เจ้าชายศากยะ ออกบวชพร้อมเจ้าศากยะ คือ พระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภคุ พระกิมพิละ แต่อุบาลีบวชก่อนเพื่อเจ้าศากยะได้ไหว้ เพื่อลดการถือตัว
หลังจากบวชแล้วได้ทูลลาขอเจริญกรรมฐานตามลำพัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อุบาลี ถ้าเธออยู่ตามลำพังจักเจริญด้านเดียวคือ วิปัสสนาธุระ แต่ถ้าอยู่กับตถาคต เธอจักได้สองอย่างคือ วิปัสสนาธุระ และคันถธุระ ได้ศึกษาพุทธพจน์”
พระศาสดามหาวีระ ลัทธิศาสนาเซน ได้สิ้นชีวิตลง ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คณะของลูกศิษย์ ทางฝ่ายของพระภิกษุจึงได้มีปรึกษาพระอุบาลีให้ช่วยหาทางหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพื่อให้มิปัญหาเรื่องของพระวินัยบัญญัติ จะเห็นได้ว่าพระวินัยมีการลำดับจัดเป็นหมวดหมู่ ทำให้ง่ายต่อการจดจำและเข้าใจ ท่านยังได้อบรมสั่งสอนศิษย์ให้รับภาระสืบทอดพระวินัย การสังคายนาครั้งที่ ๓ ถ้าย้อนไล่ตามลำดับมีการสืบทอดจากอุปัชฌาย์คือเริ่มตั้งแต่พระอุบาลี ถือได้ว่าท่านมีบทบาทสำคัญในการรักษาพระพุทธศาสนา

ผลงานของท่านคือ
๑. การวินิจฉัยอธิกรณ์ (ตัดสินคดี) พระภารุกัจฉกะ, พระอัชชุกะ, ภิกษุณีตั้งครรภ์
๒. ปฐมสังคายนา ทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย
ตัดสินคดีภิกษุณีท้อง ลูกสาวเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ หลังแต่งงานแล้วเข้ามาบวชโดยไม่ทราบว่าตนตั้งครรภ์ วันเวลาผ่านครรภ์ได้โตขึ้น เป็นที่รังเกียจสงสัยของพุทธบริษัททั้งหลาย นางได้นำเรื่องแจ้งแก่พระเทวทัต เพื่อให้ตัดสินอธิกรณ์ แต่พระเทวทัตให้เธอสละสมณเพศสึกออก และขับออกจากสำนัก นางเสียใจอย่างมาก พอได้สติ เรามิได้บวชอุทิศให้ต่อพระเทวทัต แต่อุทิศให้พระบรมศาสดา จึงมุ่งหน้าเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบความจริงอยู่แล้ว จึงรับสั่งให้พระอุบาลีตัดสินความเรื่องนี้ ท่านพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นประธาน มีนางวิสาขา และอนาถปิณฑิกะเศรษฐี ร่วมกันพิจารณา มีการตรวจดูมือ เท้า และลักษณะของครรภ์นับวันนับเดือนสอบประวัติย้อนหลัง พระอุบาลีเถระ ประกาศตัดสินท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ ว่าภิกษุณีรูปนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ นางตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อนบวช พระพุทธองค์ได้ตรัสอนุโมทนาสาธุการแก่เถระว่า “ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม”

อดีตชาติของพระอุบาลี
ในสมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ สุชาตะ
มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ ในเมืองหงสวดี อดีตชาติเคยอยู่ร่วมกับพระปุณณมันตานีบุตร เป็นฤาษีชื่อ สุนันทะ ทั้งสองได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระสาวกรูปหนึ่ง อยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะทรงจำพระวินัย เกิดศรัทธาปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นบ้าง พราหมณ์สุชาตะแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการสร้างโสภณารามถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก กราบทูลให้ทราบถึงความปรารถนาของตน ได้รับพยากรณ์ว่า ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักบวชในเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม
ตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้วยทรงจำพระวินัย มีชื่อว่า อุบาลี

ได้ฟังเกิดความปีติโสมนัสอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้เวียนว่ายในภพภูมิต่างๆ มีอยู่ชาติได้เกิดเป็น พระราชโอรสพระเจ้าจักรพรรดิอัญชนะ พระนามว่าจันทนะ เป็นคนกระด้างถือตัวว่าสูงส่งด้วยอิสริยยศ วันได้เสด็จประพาสอุทยานได้พบพระธุดงค์รูปหนึ่ง (พระเทวละ, พระปัจเจกพระพุทธเจ้า) เดินผ่านขบวน ทรงพิโรธ จึงทรงไสช้างขับไล่พระเทวละ ด้วยเมตตานุภาพของพระเทวละทำให้ช้างไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ นิ่งอยู่เหมือนถูกตรึง เห็นดังนั้นเจ้าชายจันทนะโกรธมาก จึงบริภาษด้วยถ้อยคำหยาบคายก่อนจะเสด็จต่อไป การประทุษร้ายพระที่มีศีลบริสุทธิ์ถือว่าเป็นบาปกรรมหนัก วันเวลาผ่านไปเจ้าชายรู้สึกไม่สบายพระทัย จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นเล่าให้ พระราชบิดาฟัง พระราชบิดาตรัสให้รีบไปขมาท่าน พระเทวละได้ยกโทษให้ โดยได้กล่าวปลอบพระหทัยเจ้าชายจันทนะความว่า “ไฟย่อมไม่ลุกไหม้ในน้ำ เมล็ดพืชย่อมไม่งอกในหิน หนอนย่อมไม่เกิดในตัวยา เช่นเดียวกับความโกรธ ย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเหมือนผืนแผ่นดิน นั่นคือใครๆ จะทำให้หวั่นไหวไม่ได้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายล้วนฝึกตนมาดี มีความกล้าและอดทน จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจความโกรธ”

ด้วยอำนาจเศษของบาปกรรมนั้นส่งผลให้เกิดในตระกูลชั้นต่ำ การสั่งสมบุญมาดี และความอุสาหะทำให้ท่านได้บรรลุในมรรคผล

ประวัติพระวังคีสเถระ
พระวังคีสะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ นครสาวัตถี ศึกษาจบไตรเพท จึงให้เรียนมนต์พิเศษอีกอย่างหนึ่งชื่อว่า “ฉวสีสมนต์” ซึ่งเป็นมนต์เครื่องพิสูจน์ศีรษะซากศพมนุษย์แม้จะตายไปแล้ว โดยใช้นิ้วเคาะหรือดีดที่หัวของศพ หรือกะโหลก ก็จะรู้ว่าตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร เกิดที่ไหน ท่านมีความเชี่ยวชาญในมนต์นี้มาก จึงได้อาศัยมนต์นี้เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต
ต่อมาเขาได้ตั้งเป็นคณะมีผู้ร่วมงานและตระเวนทั่วไปตามเมืองต่างๆ ด้วยวิธีการอย่างนี้ประชาชนได้นำหัวกะโหลกของญาติที่ตายไปแล้วมาให้พิสูจน์กันมากมาย ชาวคณะของวังคีสะได้รับสิ่งตอบแทนมากขึ้น ได้เห็นประชาชนถือดอกไม้และเครื่องสักการะไปยังวัดพระเชตวัน จะไปฟังเทศน์ที่วัดพระเชตวัน
“ท่านทั้งหลาย มาหาวังคีสะดีกว่า เพราะท่านสามารถรู้ว่าคนที่ตายไปแล้ว ไปเกิดเป็นอะไร ไปเกิดที่ไหน” พวกคณะของวังคีสะชักชวน “ในโลกนี้ ไม่มีผู้ใดจะรู้เท่าเทียมพระพุทธเจ้าของพวกเราได้หรอก” พุทธบริษัทแย้งขึ้น การโต้ตอบกลายเป็นการโต้เถียงเริ่มรุนแรงขึ้น ไม่เป็นที่ยุติ กลุ่มของวังคีสะ จึงตามไปที่พระเชตวันมหาวิหารเพื่อพิสูจน์ความสามารถว่าใครจะเหนือกว่ากัน
พระพุทธองค์ทรงทราบวัตถุประสงค์ของกลุ่มวังคีสะได้ดี จึงรับสั่งให้นำกะโหลกคนตายมา ๕ กะโหลก คือ
๑. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดในนรก
๒. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดในสวรรค์
๓. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
๔. กะโหลกคนที่ตายไปเกิดเป็นมนุษย์
๕. กะโหลกของพระอรหันต์
เมื่อได้กะโหลกศีรษะมาครบแล้ว ได้มอบให้วังคีสะตรวจสอบดูว่าเจ้าของกะโหลกเหล่านั้นไปเกิดที่ไหน วังคีสะ เคาะกะโหลกเหล่านั้นมาตามลำดับ และทราบสถานที่ไปเกิดถูกต้องทั้ง ๔ กะโหลก แต่พอมาถึงกะโหลกสุดท้าย ซึ่งเป็นกะโหลกของพระอรหันต์ไม่สามารถจะทราบ ได้ ไม่มีเสียงตอบจากเจ้าของกะโหลกว่าไปเกิดที่ไหน จึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า:-
“วังคีสะ เธอไม่รู้หรือ ?”
“ข้าพระพุทธเจ้า ไม่รู้ พระเจ้าข้า” “วังคีสะ ตถาคตรู้” “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงทราบด้วยมนต์อะไร พระเจ้าข้า”
“ด้วยกำลังมนต์ของตถาคตเอง”
ลำดับนั้น วังคีสะได้กราบทูลขอเรียนมนต์นั้นจากพระบรมศาสดา ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงรับจะสอนมนต์นั้นให้ แต่มีข้อแม้ว่าผู้เรียนจะต้องบวช จึงจะสอนให้ วังคีสะคิดว่าถ้าเรียนมนต์นี้จบก็จะไม่มีผู้เทียมได้เลย จะเป็นประโยชน์แก่อาชีพของตนเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกให้พราหมณ์ร่วมคณะเหล่านั้นรอยู่สัก ๒-๓ วัน เมื่อบวชเรียนมนต์จบแล้วก็จะสึกออกไปร่วมคณะกันต่อไป
เมื่อวังคีสะบวชแล้ว พระบรมศาสดาประทานพระกรรมฐาน มีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ รับสั่งให้สาธยายท่องบริกรรม พร้อมทั้งพิจารณาไปด้วยฝ่ายพราหมณ์ที่คอยอยู่ก็มาถามเป็นระยะๆ ว่าเรียนมนต์จบหรือยัง วังคีสะ ก็ตอบว่ากำลังเรียนอยู่ โดยเวลาล่วงไปไม่นานนัก ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พวกพราหมณ์เหล่านั้นเห็นว่าท่านไม่หวนกลับสึกออกมาประกอบอาชีพฆราวาสเช่นเดิมอีกแล้ว จึงได้แยกย้ายกันไปตามอัธยาศัยของตน ๆ พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้มีปฏิภาณ คือ ความสามารถในการผูกบทกวีคาถา ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

ประวัติพระสาคตเถระ
พระสาคตะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ เมืองสาวัตถี เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท จนได้บรรลุสมาบัติ ๘ ฝึกฝนจนมีความชำนาญในองค์ฌานนั้น คือการเข้าเตโชสมาบัติแสดงฤทธิ์ช่วยชาวบ้าน
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปตามคามนิคมและชนบทต่าง ๆ พระสาคตะได้ตามเสด็จไปด้วย พระพุทธองค์เสด็จถึงท่าเรืออัมพะ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านภัททวติกะ ใกล้พระนครโกสัมพี แคว้นเจตี ในบริเวณใกล้ ๆ ท่าเรือนั้น มีอาศรมฤาษีชฏิลตั้งอยู่ และชฏิลนั้นนับถือบูชาพญา นาคชื่อว่าอัมพติฏฐกะ ซึ่งเป็นสัตว์มีพิษและมีฤทธิ์อำนาจมากกว่าพญานาคทั่วไป สามารถบันดาลให้ดินฟ้าอากาศเป็นไปตามต้องการได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นผลมาจากการบันดาลของพญานาคนั้น
พระสาคตเถระ ทราบความเดือดร้อนของชาวบ้าน เกิดความสงสารจึงได้ช่วยเหลือ นั่งขัดสมาธิอธิษฐานจิตในที่ไม่ไกลจากพญานาค ทั้งพระเถระและพญานาคได้แสดงอิทธิฤทธิ์เข้าต่อสู้กันหลายประการจนในที่สุดพญานาคก็สิ้นฤทธิ์ และเลิกละการกลั่นแกล้งให้ประชาชนเดือดร้อน ฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านทำไร่ทำนาได้ดี มีความสุขกายสุขใจ และไม่ลืมที่จะระลึกถึงคุณของพระเถระที่ให้การช่วยเหลือข่าวสารการที่พระสาคตเถระปราบพญานาค ได้ร่ำลือกันไปทั่วทั้งเมือง
เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ภัททวติกาคามเสด็จไปยังพระนครโกสัมพีและพระสาคตเถระ ชาวประชาพากันคิดว่า จะถวายสิ่งของที่พระเถระชอบที่สุดและหายากที่สุดในขณะที่เที่ยวปรึกษากันอยู่ว่าจะถวายสิ่งใดดีนั้น พระฉัพพัคคีย์ได้แนะนำแก่ชาวเมืองว่า “สิ่งที่ พระภิกษุชอบที่สุดและหายากที่สุดก็คือ สุราอ่อน ๆ ที่มีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบ” เช้าวันรุ่งขึ้น พระสาคตเถระเข้าไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ชาวเมืองทั้งหลายต่างพากันถวายสุราให้ท่านดื่ม ขณะนั้นยังไม่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุดื่มสุรา พระเถระจึงดื่มสุราที่ชาวเมืองถวายแห่งละนิดละหน่อย เพื่อเป็นการรักษาศรัทธาของชายเมือง ปรากฏว่ากว่าที่ พระเถระจะเดินบิณฑบาตตลอดหมู่บ้านก็ทำเอาท่านมึนเมาจนหมดสติล้มลงที่ประตูเมือง พระบรมศาสดาเสด็จมาพบท่านนอนสลบหมดสติอยู่อย่างนั้น จึงรับสั่งให้ภิกษุช่วยกันนำท่านกลับที่พัก เมื่อท่านบรรเทาความเมากลับได้สติแล้วพระพุทธองค์ทรงติเตียนในการกระทำของท่าน และทรงบัญญัติพระวินัยห้ามภิกษุดื่มสุราตั้งแต่บัดนั้น ด้วยพระดำรัสว่า “สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ แปลว่า (ภิกษุ) เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย”
ครั้นรุ่งขึ้น พระเถระมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามปกติแล้ว รู้สึกสลดใจต่อการกระทำของตน กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงงดโทษให้แล้ว กราบทูลลาปลีกตัวจากหมู่คณะแสวงหาที่สงบสงัด บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ และในขณะนั้น พระสาคตเถระได้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก ได้มีชาวแคว้นอังคะจำนวนมาก เดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ท่านได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ดำดินลงไปแล้วโผล่ขึ้นที่ตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระฌาณว่า ชาวแคว้นอังคะเหล่านั้นยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึงและมั่นคง จึงรับสั่งให้พระสาคตเถระแสดงปาฏิหาริย์ต่อไปอีก ด้วยการแสดงการยืน เดิน นั่ง และนอนบนอากาศ ซึ่งพระเถระก็ได้แสดงอย่างชำนิชำนาญ และจบลงด้วยการทำให้เกิดควันไฟออกจากกายของท่าน
ชาวแคว้นอังคะ ทั้งหลายต่างก็อัศจรรย์ในในความสามารถของพระเถระ คิดตรงกันว่า “ขนาดพระเถระผู้เป็นสาวก ยังมีความสามารถถึงเพียงนี้ แล้วพระบรมศาสดาผู้เป็นบรมครู จะมีความสามารถถึงเพียงไหน” แล้วพากันกราบถวายบังคมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ทุกคน ณ ที่นั้น ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลโดยทั่วกัน
พระบรมศาสดา จึงทรงประกาศยกย่องพระสาคตเถระ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ชำนาญเตโชสมาบัติ ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้ว และอยู่จวบจนสิ้นอายุขัย ก็ดับขันธปรินิพพาน

ประวัติพระพาหิยเถระ
พระพาหิยะ เกิดในวรรณแพศย์ ตระกูลกุฎุมพี แคว้นพาหิยะ คงจะเรียกชื่อท่านตามชื่อแคว้น ประกอบอาชีพค้าขายตามบรรพบุรุษ เนื่องจากมีถิ่นฐานอยู่แถบชายฝั่งทะเล จึงอาศัยเรือเดินทะเลบรรทุกสุวรรณภูมิ อันตั้งอยู่ในแคว้นกัมโพชะ อินเดียตอนเหนือ ท่าจอดเรือรับส่งขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือสุปปารกะ ในอปรันตชนบท เรือแตกแต่รอดตาย เข้ามาถึงฝั่งที่ท่าสุปปารกะได้ แต่พาหิยะก็มาถึงท่าเพียงตัวเท่านั้น เสื้อผ้าที่สวมใส่หลุดหายไปในทะเล เหลือแต่ร่างกายที่เปลือยเปล่า ณ บริเวณท่าเรือสุปปาระกะนั้น มีพ่อค้าประชาชนหนาแน่น เพราะเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าและการค้าขาย
พาหิยะ ร่างกายเปลือยเปล่า ไม่มีสิ่งใดปิดบังร่างกายเลย จึงใช้เปลือกไม้บ้างใบไม้บ้าง ทำเป็นเครื่องปิดบังแทนเครื่องนุ่งห่ม เที่ยวขออาหารจากชาวบ้าน ในยุคสมัยนั้นคำว่า “พระอรหันต์” เป็นคำที่ประชาชนกล่าวขาน พอได้เห็นพาหิยะผู้นุ่งเปลือกไม้ มีร่างกายผ่ายผอม ต่างก็พากันเข้าใจว่า พระอรหันต์ ดังนั้นจึงพากันให้อาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ทำให้พาหิยะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่พาหิยะปฏิเสธไม่ยอมรับเสื้อผ้ามาสวมใส่ “พาหิยทารุจิริยะ” ซึ่งแปลว่า พาหิยะผู้มีเปลือกไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และท่านได้ดำเนินชีวิตโดยทำนองนี้เรื่องมาเป็นเวลานาน
วันหนึ่ง ได้มีพระพรหม ผู้เคยเป็นสหายเก่าที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันในอดีตชาติกับพาหิยะ และได้บรรลุธรรมถึงชั้นอนาคามิผล เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส ได้ติดตามดูพฤติกรรมของพาหิยะ จึงลงมาเตือนให้สติว่า “พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ บัดนี้ พระอรหันต์ที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้วในโลก ขณะนี้ พระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีแคว้นโกศล”
พระพาหิยะ ได้ฟังคำเตือนของพระพรหมผู้เป็นสหายเก่าแล้วเกิดความสลดใจในการกระทำของตนเอง รู้สึกสำนึกผิดเลิกละการกระทำนั้น และเกิดความปิติยินดีที่ทราบว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก จึงรีบออกเดินทางจากท่าเรือสุปปารกะ มุ่งสู่เมืองสาวัตถี
ซึ่งมีระยะทางถึง ๑๒๐ โยชน์ (๑๙๒ กม.) ท่านเดินทางทั้งวันทั้งคืนอย่างรีบร้อน เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาให้เร็วที่สุด เพราะไม่รู้แน่ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ท่านเดินทางมาถึงเมืองสาวัตถี ในเวลารุ่งเช้าแล้วรีบ ตรงไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อได้ทราบว่า ขณะนี้พระบรมศาสดา เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง จึงรีบติดตามไปในเมืองและได้พบพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ ด้วยความปีติยินดีอย่างที่สุดได้เข้าไปกราบแทบพระบาทแล้ว กราบทูลขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธองค์ตรัสห้าวว่า “พาหิยะ เวลานี้ มิใช่เวลาแสดงธรรม”
พาหิยะ ได้พยายามกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงพระธรรมเทศให้ฟัง โดยตรัสสอนให้สำรวมอินทรีย์ คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรสก็สักแต่ว่าลิ้มรส และสัมผัสสักแต่ว่าสัมผัสเท่านั้น อย่า ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น และหมั่นสำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่เป็นนิตย์ พาหิยะ ส่งกระแสจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในทันที
ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ในอดีตชาติท่านพาหิยะ ไม่เคยทำบุญสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรด้วยบาตรและจีวรเลย เมื่อบวชแล้วบาตรและจีวรที่จะเกิดด้วยบุญฤทธิ์ ก็จะไม่มีจึงรับสั่งให้ท่านไปหาบาตรและจีวรมาให้ครบก่อน และในขณะที่ท่านกำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั้นได้ถูกอมนุษย์ผู้เคยเป็นศัตรูกันมากแต่อดีตชาติ เข้าสิงร่างแม่โคลูกอ่อนวิ่งเข้าขวิดท่านตาย จึงถือว่าท่านนิพพานตั้งแต่ยังไม่ได้บวช พระพุทธองค์เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นศพของท่านนอนอยู่ริมทางจึงรับสั่งให้ภิกษุที่ติดตามเสด็จมา จัดการฌาปนกิจให้ท่าน และทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็วพลัน

พระกุมารกัสสปเถระ (เอตทัคคะในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร)
พระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า “กัสสปะ” แต่เพราะท่านได้รับการบำรุงเลี้ยงดูจากพระเจ้าเสนทิ- โกศล ประชาชน จึงเรียกท่านว่า กุมารกัสสปะ
มารดาเป็นภิกษุณีตั้งท้องก่อนบวช พระเทวทัตได้ตัดสินให้เธอสระสมณเพศสึกออกไปเสียจากสำนัก พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตัดสินอธิกรณ์ในท่ามกลางพุทธบริษัทว่า นางภิกษุณีรูปนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระพุทธองค์ได้ตรัสอนุโมทนาสาธุการ ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม
นางได้คลอดบุตรออกมา วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จผ่านมาได้สดับเสียงทารกร้อง พระองค์จึงได้ขอบุตรนางภิกษุณีไปเลี้ยง พอโตขึ้นได้ทราบความจริงว่าไม่ใช่พระกุมาร รู้สึกสลดใจในชะตาชีวิตของตนจึงกราบทูลขออนุญาตบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วได้ไปบวชเป็นสามเณรในสำนักพระบรมศาสดา ศึกษาพระกรรมฐานและพระธรรมวินัยจากพระบรมศาสดาและอาจารย์ทั้งหลาย จวบจนอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในอดีตชาติเคยมีสหายปฏิบัติสมณธรรมร่วมกัน ได้ไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสนั้นเห็นท่าน พระกุมารกัสสปะบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จึงลงมาช่วยเหลือด้วยการแก้ปัญหา ๑๕ ข้อ แนะนำให้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ให้ ท่านได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระหรหมนั้นปัญหา ๑๕ ข้อนั้นคือ ๑. จอมปลวก ๒. กลางคืนเป็นควัน ๓. กลางวันเป็นไฟ ๔. พราหมณ์ ๕. สุเมธผู้เป็นศิษย์ ๖. จอบ ๗. เครื่องขุด ๘.ลูกสลัก ๙.อึ่งอ่าง ๑๐. ทาง ๒ แพร่ง ๑๑. กระบอกกรองน้ำ ๑๒. เต่า ๑๓ เขียง ๑๔. ชิ้นเนื้อ ๑๕. นาค พระกุมารกัสสปะ ส่งกระแสจิตไปตามลำดับแห่งคำพยากรณ์แก้ปัญหานั้น เมื่อจบข้อสุดท้ายท่านก็บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
๑๒ ปี นางก็ยังมิได้เห็นหน้าพระลูกชายเลย ด้วยความดีใจสุดจะยับยั้ง ขณะที่พระกุมารกัสสปะรับบิณฑบาต นางได้ร้องเรียกด้วยถ้อยคำอันไพเราะ มีความรักลูกชายอย่างมาก พระเถระต่อว่ามารดา เพราะความสิเนหารักใคร่ อาจจะเป็นเหตุให้นางเสื่อมเสียโอกาสบรรลุอมตธรรม นางจึงตัดรักตัดอาลัย หมดความสิเนหาในตัวลูกชาย อย่างสิ้นเชิง แล้วนางก็ได้ตั้งใจปฏิบัติวปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตผล ท่านได้แสดงธรรมโปรดพระเจ้าปายาสิ ผู้ครองนครเสตัพยะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่าโลกหน้าไม่มี กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ก็ไม่มี เมื่อได้ฟังธรรมจากพระเถระแล้วกลับเป็นสัมมทิฏฐิ ประกาศตนเป็นอุบาสก นับถือพระรัตนตรัยตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็น ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร

ประวัติพราหมณ์พาวรี ๑๖
มาณพ ๑๖ คน เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ออกบวช ประพฤติพรต มีอาศรมอยู่ริมแม่น้ำโคธาวารี สอนไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ข่าวการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พราหมณ์พาวรีใคร่รู้ในความสงสัย จึงตั้งคำถามให้มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน ผูกปัญหาให้คนละหมวด เพื่อทูลถามปัญหากับพุทธเจ้า
พระบรมศาสดาตรัสตอบปัญหาแต่ละคน อาทิเช่น
๑๕. โมฆราชมาณพ ถามปัญหา ๑ ข้อ
ม. โลกนี้ก็ดีโลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบ ความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ข้าพเจ้าจะพิจารณาเห็นอย่างไร มุจจุราชจึงจะไม่แลเห็น คือจักไม่ตามทัน
พ. ท่านจงเป็นคนมีสติ ถอนความตามเห็นว่า ตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุชราชเสียได้ ด้วยอุบายอย่างนี้ ท่าน พิจารณาอย่างนี้แล มัจจุราชจึงแลไม่เห็น ฯ
หลังจากที่พยากรณ์แก่มาณพทั้งหมดแล้ว เว้นปิงคิยมาณพ ส่งใจไปตามเทศนา จิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน มานพทั้ง ๑๖ คน ทูลขออุปสมบท ส่วนปิงคิยมาณพ ท่านมัวแต่คิดถึงอาจารย์ เป็นห่วงอาจารย์ มีความฟุ้ซ่าน ภายหลังได้ฟังธรรมอีก จึงบรรลุอรหัตผล
และองค์ที่ได้รับเอตทัคคะ คือพระบรมศาสดายกย่อง มีเพียง ๑ องค์ คือ พระโมฆราช เป็นเลิศกว่าภิกษุอื่นในทางจีวรเศร้าหมอง

ประวัติพระวักกลิเถระ
พระวักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี ได้ศึกษาศิลปะวิทยา จบไตรเพท ตามความนิยมของลัทธิพราหมณ์
สมัยหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จสู่พระนครสาวัตถีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์วักกลิมาณพนั้น เป็นผู้มีอุปนิสัยหนักไปในทางราคจริตรักสวยรักงาม พอได้เห็นพระรูปโฉมอันสง่างาม ผิวพรรณผ่องใส พระอิริยาบถจึงเกิดศรัทธาเลื่อมใสและรักใคร่ไม่รู้จักเบื่อหน่าย เกิดความคิดว่า “ถ้าเราบวชก็จะได้ตามดูพระวรกายของพระพุทธองค์ ได้อย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา” เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ก็มิได้ใส่ใจในการที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ทุกวันเวลามีแต่มัวเมาเฝ้าดูพระรูปโฉมของพระพุทธองค์มิได้ ละเว้น พระพุทธองค์เองก็มิได้รับสั่งว่ากล่าวแต่ประการใด พระองค์ตรัสเตือนให้พระวักกลิ เลิกละการเที่ยวติดตามดูร่างกายอันจะเน่าเปื่อยนั้นเสีย และทรงชี้ทางให้ท่านกลับมาใส่ใจบำเพ็ญสมณธรรมด้วยพระดำรัสว่า “ดูก่อนพระวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม”
พระวักกลิ แม้ว่าพระพุทธองค์จะตรัสเตือนอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำริว่า
“ภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้รับความสลดใจเสียบ้าง ก็จะไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย”
เมื่อใกล้จะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์ได้เสด็จไปสู่พระนครราชคฤห์โดยมีพระวักกลิ ยังคงติดตามดูพระองค์อยู่ตลอดเวลา จึงตรัสเรียกให้พระวักกลิ เข้ามาเฝ้า และตรัสประณามขับไล่เธอออกไปเสียจากสำนักของพระองค์ด้วยพระดำรัสว่า:-
“อเปหิ วกฺกลิ : ดูก่อนวักกลิ เธอจงออกไปจากสำนักของเรา” พระวักกลิ เมื่อได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว คิดว่าพระบรมศาสดาคงจะไม่เมตตาทักทายปราศรัยกับเราอีกแล้ว เราก็คงจะไม่ได้เห็นพระวรกายรูปโฉม จึงออกจากพระเวฬุวันมหาวิหาร หมายใจว่าจะไปกระโดดภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อฆ่าตัวตาย
พระองค์ปรากฏให้เธอเห็นพร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อว่า “วักกลิ” แล้วตรัสปลอบใจด้วยธรรมกถา พระวักกลิ ก็เกิดปีติปราโมทย์รื่นเริงบันเทิงใจ จึงรีบมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศพิจารณาพระโอวาทที่ตรัสสอน ข่มปีติลงได้แล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา บนอากาศนั้น ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า อาศัยศรัทธาเป็นสื่อนำ จนสามารถได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา

ประวัติอนาถบิณฑิกเศรษฐี
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เกิดในตระกูลเศรษฐี เมืองสาวัตถี เดิมชื่อสุทัตตะ ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะว่าท่านเป็นผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา - บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีน้องเขยอยู่ที่เมืองราชคฤห์ชื่อว่า ราชคหกเศรษฐี ต่างฝ่ายต่างได้น้องของกันและกันเป็นภรรยา ได้เดินทางไปยังเมืองราชคฤห์ เพื่อนำสินค้ามาขาย ในวันนั้น ราชคหกะ ไม่ได้ต้อนรับ เพราะมัวยุ่งกับการตระเตรียมภัตตาหาร พอได้สนทนากันบอกกับท่านอนาถบิณฑิกะว่า วันพรุ่งนี้จะนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันที่บ้านของตน อนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้น รู้สึกประหลาดใจ เกิดความปีติอย่างแรงกล้า อยากจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเดียวนั้นเลย แต่ราชคหกเศรษฐี ห้ามไว้เป็นเวลาที่ยังไม่เหมาะสม รุ่งเช้ารีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนคนอื่น ได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจสี่ บรรลุเป็นพระโสดาบัน

- สร้างวัดพระเชตวันถวาย
หลังจากที่ถวายภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย ท่านอนาถบิณฑิก- เศรษฐี ได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดชาวเมืองสาวัตถี พร้อมที่จะสร้างวิหารถวาย เศรษฐีมุ่งหน้ามาก่อนเพื่อติดต่อขอชื้อที่ดินกับเจ้าชายเชตราช โดยให้เศรษฐีนำเงินมาปูลาดให้เต็มบริเวณพื้นที่จึงจะยอมขายให้ เศรษฐีใช้เงิน ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อสร้าง รวมทั้งหมด ๕๔ โกฏิ เจ้าเชตยังร่วมบุญเป็นเจ้าภาพบริเวณพื้นที่ซุ้มประตู ขอร้องให้จารึกนามอารามแห่งนี้ว่า เชตวัน หลัง จากนั้นได้ทำการฉลองพระเชตวันมหาวิหาร

- เป็นเศรษฐีที่จนและรวยที่สุด
ได้นิมนต์พระภิกษุ ๒๐๐ รูป ฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำ และให้ทานแก่คนยากจน จนทรัพย์สินเริ่มลดลง ภัตตาหารที่ถวายคุณภาพปริมาณลดลงด้วย เทวดาตนหนึ่งมีมิจฉาทิฏฐิ สิงสถิตที่ซุ้มประตู เวลาที่พระสงฆ์เดินรอดซุ้ม ตนไม่สามารถอยู่ได้ต้องหนีห่าง จึงปรากฏกายต่อหน้าท่านเศรษฐี ห้ามมิให้เศรษฐีทำบุญทำทานอีกต่อไป เศรษฐีถามต่อไปว่า ท่านเป็นใคร
ข้าพเจ้าเป็นเทวดา อยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของท่าน
ดูก่อนเทวดาอันธพาล เราไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการฟังคำพูดของท่าน ขอท่านจงออกไปจากซุ้มประตูเรือนของเรา อย่ามาให้ข้าพเจ้าเห็นอีกเป็นอันขาด
กลายเป็นเทวดาที่ไม่มีที่อยู่ ขอให้เทวดาที่มีศักดิ์สูงกว่าตนให้ช่วยเหลือ ก็ไม่ได้เป็นผลสำเร็จ เพียงแต่บอกอุบายให้ว่า ทรัพย์เก่าของเศรษฐี จำนวน ๘๐ โกฏิ ฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังจมหายไปในสายน้ำ ให้ท่านนำกลับคืนมามอบเศรษฐี ท่านเศรษฐีจะยกโทษให้
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่จนอยู่ในขณะเดียวกลับกลายเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยมากขึ้นกว่าเดิม
- ต้นแบบทำบุญอุทิศให้คนตาย
หลานท่านเศรษฐีเล่นตุ๊กตาทำจากแป้งหล่นลงจนแตก หลานเสียใจร้องไห้ ท่านปลอบโยนหลานโดยการจะทำบุญอุทิศให้ตุ๊กตา ข่าวการทำบุญอุทิศดังไปทั่ว ผู้คนถือปฏิบัติตามกันมา เมื่อญาติตายก็จะอุทิศบุญกุศลไปให้ เป็นแบบอย่างจนถึงทุกวันนี้

- มอบหน้าที่ให้ลูกสาว
พระภิกษุจะเข้ามารับอาหารบิณฑบาตเป็นประจำที่บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา บุคคลอื่นจะเลี้ยงพระก็จะต้องขอคำแนะจากท่านทั้งสอง ทำให้ท่านไม่ค่อยมีเวลามาดูแลพระที่บ้านของตน นางวิสาขาได้มอบภารกิจแก่หลานสาว ส่วนอนาถบิณฑิกะได้มอบหน้าที่แก่ลูกสาวคือ
มหาสุภัททา ลูกสาวคนโต ได้ฟังธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้แต่งงานไปอยู่กับสกุลสามี เศรษฐีมอบหมายลูกสาวคนที่สองคือ จุลสุภัททา ช่วยดูแลอยู่ระยะหนึ่ง ได้ฟังธรรมบรรลุเป็น พระโสดาบัน ต่อมาได้แต่งงานไปอยู่กับสกุลสามี เศรษฐีจึงมอบให้คนเล็กชื่อว่า สุมนาเทวี และได้ฟังธรรม บรรลุเป็นพระสกทาคามี วันหนึ่ง สุมนาเทวี ได้มีอาการป่วยหนัก เศรษฐีเข้ามายี่ยม ถามถึงอาการ แต่ลูกสาวกลับเรียกบิดาว่าเป็นน้องชาย หลังจากนั้นถึงแก่กรรม

- กราบทูลพระศาสดา
ท่านเศรษฐีร้องไห้เสียใจเป็นอย่างมาก และได้เข้าเฝ้าพระศาสดา พระองค์ตรัสปลอบท่านเศรษฐี และได้ทูลถามถ้อยคำนางสุมนาที่เรียกตนว่าน้อง ดูก่อนมหาเศรษฐี ธิดาท่านไม่ได้เพ้อหรือหลงสติ นางใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล ท่านเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่นางบรรลุเป็นพระสกทาคามี เศรษฐีได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้ว หายจากความเศร้าโศกเสียใจ รับความปีติอิ่มใจ ท่านเศรษฐีเป็นผู้มีศรัทธามั่งคงไม่หวั่นไหว ฝักใฝ่ในการทำบุญให้ทาน พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่ายผู้เป็นทายก

ประวัตินางวิสาขา (ผู้เป็นทายิกา)

นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อธนญชัย มารดาชื่อสุมนาเทวี และปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี เด็กหญิงวิสาขาได้บรรลุพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ส่วนปู่เมณฑกเศรษฐีบรรลุพระโสดาบันเช่นกัน เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่เมืองภัททิยะ รับอาหารบิณฑบาตที่บ้านเมณฑกเศรษฐีเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน สืบเนื่องมาจากที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องการเศรษฐีจากเมืองราชคฤห์ให้ประจำอยู่ที่เมืองสาวัตถี ที่กล้าขอคงเป็นเพราะว่า ภคินี หรือน้องสาวของพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์จึงยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี
ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์ บริวาร และสัตว์เลี้ยง ระหว่างทางก่อนถึงเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์ เห็นว่าเป็นทำเลดี จึงขออนุญาตก่อตั้งหมู่บ้านชื่อว่า สาเกต

- หญิงเบญจกัลยาณี

ในเมืองสาวัตถีมีตระหนึ่งหนึ่งชื่อว่า มิคารเศรษฐี ต้องการให้ลูกชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร ได้แต่งงานเพื่อสืบวงศ์ตระกูล จึงออกอุบายเลี่ยงพ่อแม่ว่า ถ้ามีหญิง ๕ อย่าง จึงจะยอมแต่งงาน เบญจกัลยาณี ความงามของสตรี ๕ ประการ

๑. ผมงาม (เกสกลฺยาณํ) ผมยาวถึงสะเอว ปลายงอนขึ้น
๒. เนื้องาม (มงฺสกลฺยาณํ) ริมฝีปากแดงเหมือนผลตำลึงสุก
๓. กระดูกงาม (อฏฐิกลฺยาณํ) ฟันสีขาวเหมือนสังข์ เรียบเสมอกัน
๔. ผิวงาม (ฉวิกลฺยาณํ) ถ้าดำเหมือนดอกบัวเขียว ถ้าขาวเหมือนดอกกรรณิการ์
๕. วัยงาม (วยกลฺยาณํ) แม้คลอดลูก ๑๐ ครั้ง ก็ดูเหมือนกับกำเนิดบุตรเพียงครั้งเดียว
ทางบิดามารดาได้เชิญพราหมณ์ผู้เชียวชาญด้านอิตถีลักษณะ ให้ออกแสวงหาตามเมืองต่างๆ
- ชน ๔ พวก วิ่งไม่งาม
ขณะที่นางและหญิงบริวารกำลังเล่นน้ำที่ท่าน้ำ พอฝนตกหญิงบริวารรีบวิ่งหลบฝน ส่วนนางวิสาขาไม่วิ่งคงเดินตามปกติ พราหมณ์เห็นลักษณะถูกต้องตามตำรา ต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางได้ถามว่า ทำไมเธอไม่วิ่งหนีหลบฝน นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวก เมื่อวิ่งจะดูไม่งาม
๑. พระราชา ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์
๒. บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓. สตรี หญิงทั้งหลายวิ่งไม่งามอยู่แล้ว อาจจะอุบัติเหตุจนเสียโฉม หรือพิการ
๔. ช้างมงคล เพราะตัวช้างด้วยประดับเครื่องอาภรณ์
พราหมณ์ได้เห็นการแสดงปัญญาของนาง และเป็นหญิงเบญจกัลยาณี จึงไปที่บ้านนางทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ จึงสวมพวงมาลัยทองให้นาง กำหนดการหมั้นหมายและกำหนดวิวาหมงคล ธนญชัยเศรษฐีได้ทำเครื่องประดับชื่อ มหาลดาประสาธน์ ชุดยาวตั้งแต่หัวจนถึงปลายเท้า ประกอบด้วยเงินทองและรัตนมีค่า ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าช่าง ๑ แสน ธนญชัยเศรษฐีมอบทรัพย์สิน บริวาร สัตว์เลี้ยง และกุฎุมพีประจำตัว ๘ คน

- ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว
๑. ไฟในอย่านำออก เรื่องไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวหรือสามี ไม่ควรนำไปพูดให้คนภายนอกฟัง
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า เมื่อมีคนตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามี อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง
๓. ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น คือคนที่ยืมแล้วนำมาคืนให้
๔. ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ คือคนที่ยืมแล้วไม่นำมาส่งคืนให้
๕. ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้และไม่ให้ เมื่อญาติมิตรผู้ยากจนขอความช่วยเหลือ ให้ไปแล้วไม่นำมาคืน ก็ควรที่จะให้
๖. พึงนั่งให้เป็นสุข ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัวแม่ผัวและสามี
๗. พึงนอนให้เป็นสุข ไม่ควรนอกก่อนพ่อผัวแม่ผัวและสามี
๘. พึงบริโภคให้เป็นสุข ควรจัดให้พ่อผัวแม่ผัวและสามีบริโภคก่อน ตนบริโภคภายหลัง
๙. พึงบำเรอไฟ ให้สำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัวแม่ผัวและสามี เปรียบเสมือนกองไฟหรือพญานาคที่ต้องบำรุงดูแล
๑๐. พึงนอบน้อมเทวดาภายใน ให้สำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัวแม่ผัวและสามี เปรียบเหมือนเทวดา

- นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว บริโภคของเก่า
มิคารเศรษฐีมีความศรัทธานักบวชอเจลก (ชีเปลือย) ได้เชิญนักบวชเหล่านั้นมารับอาหารที่บ้าน ให้คนตามนางมาไหว้พระอรหันต์ นางวิสาขาดีใจรีบไป พอเห็นชีเปลือย กล่าวว่า ผู้ไม่มีความละลายเหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ พร้อมติเตียนมิคารเศรษฐี
มีอยู่วันหนึ่ง มิคารเศรษฐีกำลังรับประทานอาหาร มีพระเถระบิณฑบาตได้หยุดหน้าบ้าน นางวิสาขารู้ว่ามิคารเศรษฐีไม่มีศรัทธา จึงกล่าวกับพระเถระว่า นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างหน้าก่อนเถิด ท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่ เศรษฐีได้ยินโกรธเคืองมาก ขับไล่นางวิสาขาออกจากบ้าน นางเชิญกุฎุมพีมาตัดสิน นางก็แก้ด้วยคำว่า การบริโภคของเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่า แต่หมายถึงการบริโภคบุญเก่าอยู่ เศรษฐีได้ฟังหายโกรธ อนุญาตให้นางนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านได้

- พ่อผัวยกย่องให้เป็นมารดา

วันหนึ่ง นางได้อาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้าน ให้คนเชิญมิคารเศรษฐีมาถวาย แต่เศรษฐีไม่กล้ามาออกสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา หลังจากฉันเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม จบเทศนา มิคารเศรษฐีหลบอยู่หลังม่านได้ฟังธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ออกจากหลังม่านตรงไปหานางวิสาขา ประกาศตั้งแต่บัดนี้เธอคือมารดาของฉัน นางวิสาขาจึงได้นามใหม่ว่า มิคารมารดา หรือ วิสาขามิคารมารดา

- คุณสมบัติประจำตัวนางวิสาขา
๑. ลักษณะของผู้มีวัยงาม มีความงาม มีอายุมาก ๑๒๐ ปี มีลูกชายหญิง ๒๐ คน ลูกของนางมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลน ๘,๐๐๐ คน ดังนั้นจำนวน ๘,๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดจากนางวิสาขา เวลาที่นั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน จะไม่รู้ว่านางวิสาขาคนไหน จะรู้ก็ต่อเมื่อตอนที่นางลุกขึ้นเดิน
๒. มีกำลังเท่ากับช้าง ๕ ช้าง ครั้งหนึ่ง พระราชาจะทดลองกำลังของนาง ให้ปล่อยช้างวิ่งชนนาง นางวิสาขาจะจับผลักช้าง กลัวจะเป็นบาป นางจึงใช้มือเพียงสองนิ้วจับงวงช้างแล้วเหวี่ยงไป ช้างได้ล้มกลิ้ง แต่ไม่เป็นอันตราย
- นางวิสาขาร้องไห้อาลัยหลาน
หลานสาวชื่อว่าสุทัตตีได้ถึงแก่กรรม นางวิสาขาเสียใจร้องไห้ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ดูก่อนวิสาขา ในเมืองนี้ เธอต้องการบุตรหลานกี่คน? นางวิสาขา ทั้งหมดเมืองนี้
พระศาสดา เมืองสาวัตถีมีคนตายวันละเท่าไหร่
นางวิสาขา ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง
พระศาสดา ถ้าคนเหล่านั้นเป็นบุตรหลานจริง หน้าของเธอคงเปียกชุ่มด้วยน้ำตา ไม่มีวันแห้งเหือด มีสิ่งที่รัก ๑๐๐ อย่าง ก็ทุกข์ถึง ๑๐๐ ดังนั้นผู้ปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ก็ไม่ควรทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก หลังจากได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว นางได้คลายจากความเศร้าโศก

- นางวิสาขาสร้างวัด นางวิสาขาจะเข้าไปที่วัดเป็นประจำคือ เช้า - เย็น วันหนึ่งจากที่ฟังธรรมเสร็จแล้ว หญิงสาวผู้ติดตามได้ลืมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ นางก็ให้กลับไปเอา แต่ถ้าพระอานนท์ถูกต้องสัมผัสแล้ว มอบถวายท่านไปเลย แต่นางกลับคิดว่า เครื่องประดับนี้ไม่มีประโยชน์แก่เถระ นางจึงขอรับคืนนำออกขาย ในราคาเดิม แต่ไม่มีผู้ใดมีกำลังชื้อ นางจึงชื้อเอาไว้เอง นำเงินชื้อที่ดินสร้างวัด พระศาสดา รับสั่งให้พระโมคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง มีปราสาท ๒ ชั้น ห้องพักชั้น ๕๐๐ ห้อง ใช้เวลา ๙ เดือนจึงเสร็จเรียบร้อย ได้ชื่อว่า วิหารบุพพาราม - ต้นแบบถวายผ้าอาบฝน
นางวิสาขาให้สาวใช้ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ วันนั้นฝนตก มารายงานแก่นางวิสาขาทราบว่า ที่วัดไม่มีพระเลย มีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำกันอยู่ นางวิสาขาได้ฟัง นางเป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าอนุญาตผ้าเพียง ๓ ผืน คือ จีวร สังฆาฏิ สบง เวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่ผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ พระบรมศาสดาเสด็จมาบ้านนางวิสาขา หลังจากเสร็จภัตตากิจ
นางวิสาขากราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น

- พระภิกษุคิดว่านางเป็นบ้า
นางวิสาขามีความปรารถนาหลายประการ คือ
๑. สร้างปราสาทถวายเป็นวิหารทาน
๒. ถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์
๓. ถวายสลากภัต
๔. ถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย
๕. ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
ความปรารถนาเหล่านั้นสำเร็จทุกประการ นางมีความเอิบอิ่มใจ จึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว พระภิกษุทั้งหลาย ได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขา ต่างรู้สึกประหลาดใจ และพากันกราบทูลถามพระศาสดา พระองค์ตรัสว่า ธิดาของเรามิได้เสียจริต เพราะมีความปีติยินดีที่ความปรารถนาสำเร็จทุกประการ นางจึงเดินเปล่งอุทาน ด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ และได้ถวายจตุปัจจัยเป็นจำนวนมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้เป็นทายิกา

โลหะปราสาทของโลก ๓ แห่ง ๑. มิคารมาตุปราสาท สาวัตถี อินเดีย มี 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ สร้างโดยนางวิสาขา ๒. โลหะปราสาท เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา มี 9 ชั้น 1,000 ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองคำ สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ๓. โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร 3 ชั้น มียอด 37 ยอด สร้างโดยรัชกาลที่ ๓
๕ ผู้ต้องธรณีสูบ ในสมัยครั้งพุทธกาล มีดังนี้
๑. พระเทวทัต ได้พยายามลอบปลงพระชนม์ พระพุทธเจ้าอีกหลายครั้ง กลิ้งหินใส่ พระพุทธเจ้าจนห้อเลือด ยุยงสงฆ์ให้แตกแยก

๒. พระเจ้าสุปปะพุทธะ มีจิตโกรธแค้นอาฆาต ที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบ ที่ทอดทิ้งธิดาของตน ขวางทางที่พระพุทธองค์จะออกโปรดเวไนยสัตว์ เสด็จดำเนินไม่ได้เพราะมีทางออกอยู่ทางเดียว ถึงกับต้องอดพระกระยาหารไป ๑ วัน

๓. นันทมานพ เข้าปลุกปล้ำ ข่มขืนภิกษุณี ชื่อ อุบลวรรณาเถรี


๔. จิญจมาณวิกา แกล้งทำเป็นหญิงมีครรภ์ กับพระพุทธองค์ โดยเอาไม้กลึงนูนไปผูกรัด ไว้ที่หน้าท้องในเสื้อผ้า

๕. นันทยักษ์ เหาะขึ้นกลางอากาศแล้วใช้ กระบองซึ่งเป็นอาวุธประจำตน ฟาดลงมา หมายเศียรของพระสารีบุตร

เมืองสาวัตถี มหานครแห่งคนดี
เมือง…เศรษฐีลือนาม เมือง…หญิงงามลือชื่อ
เมือง…มหาวิหารลํ่าลือ เมือง…เลื่องลือโพธิ์อานนท์
เมือง…เดียรถีย์เสียท่า เมือง…๒๕ จำกาลฝน
เมือง…ปราบโหราจารย์พาลชน เมือง…แสดงมงคล ๓๘ ประการ
เมือง…กฐินถูกยอยก เมือง…แสดงยมกปาฏิหาริย์
เมือง…จอมโจรองคุลีมาล เมือง…ตำนานพระสีวลี
เมือง…ธรณีสูบคนบาป เมือง…กำราบคนหมองศรี
เมือง…มากหมู่พระกุฎี เมือง… สร้างบารมี ศีล ทาน ภาวนาฯ

ที่มา...คู่มือพระธรรมวิทยากร








โพธิสิกขาลัย (Bodhisikkhalai)
โทร 0-3587-3065, 085-7777-184 แฟกซ์ 0-3587-3058
Line ID: 0857777184
เว็บไซต์ : www.bodhisikkhalai.com
อีเมล: bodhisikkhalai@gmail.com


Copyright © 2011 All Rights Reserved